กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกระตุ้นเอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพ สร้างทางรอดยั่งยืนในตลาดอาเซียน โดยในการสัมมนาความร่วมมือระดับภูมิภาคเรื่อง “การปรับทัพ AEC ให้สอดคล้องกับ SMEs” ซึ่งมูลนิธิเอเชียและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องต่างแสดงความคิดเห็นและมุมมองต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างโอกาสให้กับเอสเอ็มอีไทยก่อนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปีหน้านี้ โดย
นายชุตินันท์ สิริยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการปรับตัวเข้าหาเออีซีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยระบุว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้ว่าเออีซีจะเริ่มในปี พ.ศ.2558 ซึ่งต้องเผชิญกับเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะภายใต้กรอบอะไรก็ตาม และกังวลกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures-NTM) ที่ทุกประเทศจะเพิ่มออกมากีดกันทางการค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงาน การทุ่มตลาด ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย มีการจำกัดท่าเรือการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร จาก 8 ท่าเหลือ 4 ท่า เป็นต้น ทำให้กระจายสินค้าได้ช้า และบางมาตรการกำหนดให้ต้องมีการจดทะเบียนผู้นำเข้าหรือยื่นขออนุญาตและกำหนดโควต้าการนำเข้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการค้าของผู้ประกอบการไทย
ดังนั้นนอกจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องพยายามผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับตลาดสากลแล้ว ยังต้องคำนึงถึงมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย และเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามรวบรวมจัดทำฐานข้อมูลว่ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมีอะไรบ้าง และเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงและใช้ประกอบการตัดสินใจไปลงทุนได้อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถขอรับความช่วยเหลือในการเตรียมความพร้อมปรับตัวรับเออีซีได้จากกองทุนเอฟทีเอของกระทรวงพาณิชย์และในระยะยาวจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศ ให้ปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
Dr.Ponciano S.Intal,Jrl, Senior researcher,Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) กล่าวสนับสนุนการมีฐานข้อมูลมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี โดยระบุว่า การมีฐานข้อมูลที่ดีและทันสมัยเกี่ยวกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของแต่ละประเทศนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งบรรดาเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการในประเทศนั้น ๆ จะต้องกดดันให้รัฐบาลทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้มีความพยายามร่วมกันที่จะปรับปรุงด้านนโยบายที่เหมาะสมสำหรับเอสเอ็มอี เพื่อบริหารจัดการมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเหล่านี้ได้ดีขึ้น โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องให้ความสำคัญกับอุปสรรคด้านเทคนิคทางการค้าและต้องทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อให้เข้าใจกฎระเบียบต่าง ๆ และสอดคล้องกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เอสเอ็มอีที่สามารถปรับตัวและเข้าร่วมในกระบวนการเครือข่ายการผลิตนานาชาติได้จึงจะได้ประโยชน์จากเออีซีประเทศที่สามารถพัฒนาให้เอสเอ็มอีเติบโตไปได้ประเทศเหล่านั้นจะมีระดับการพัฒนาที่สูงตามมาด้วย ตัวอย่างเช่น สิงค์โปร์
นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เอสซีจีมีประสบการณ์การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมีบริษัทสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีของประเทศไทย ที่ต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเอสซีจีมองว่าประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพเหมาะสมในการเป็นฐานการผลิต ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และเวียดนาม
นายบรรณ ฝากข้อคิดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเตรียมตัวเข้าสู่เออีซีว่า ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องกลัวตกรถไฟ ให้อยู่ในช่วงเตรียมตัวให้ดี เพื่อไปให้ตรงจุด เป็นขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องพุ่งเข้าไปโดยยังไม่ทราบหรือมีความรู้น้อย การไปลงทุนต่างประเทศควรเริ่มจากเอาสินค้าไปทดลองตลาดในประเทศที่เลือกก่อน พร้อมกันนั้นค่อย ๆ เรียนรู้ ภาษา วัฒนธรรม การเมืองของคู่ค้า จากนั้นจึงหาผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ ต้องรู้ว่าพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่นของเราในประเทศนั้นคือใคร และที่สำคัญคือการบริหารทรัพยากรบุคคล หากต้องส่งพนักงานหรือผู้แทนไปทำงานในต่างประเทศซึ่งมีบรรยากาศการทำงานไม่เหมือนประเทศไทยควรคัดเลือกบุคลากรระดับแถวหน้าของบริษัทไปทำงาน
ด้าน Mr.Andrew Dieux ประธานคณะกรรมการเออีซี สภาหอการค้าต่างประเทศเพิ่มเติมในเรื่อง การขยายตัวการค้าภายใต้ AEC โดยระบุว่า ในอนาคตโฉมหน้าของอาเซียนจะมีการเปิดเสรีมากขึ้น ทั้งในเรื่องสินค้าและบริการ มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูง โดยคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า พม่าและกัมพูชาจะเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วย เวียดนาม และลาว ส่วนประเทศไทยอาจมีการเติบโตรั้งท้ายที่สุด ปัญหาหลักในปัจจุบันของไทยคือผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายและมีเพียงรัฐบาลรักษาการทำให้ไม่สามารถผลักดันกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องได้ ปัญหาที่สำคัญอีกประการคือเอสเอ็มอีไทยไม่เข้าใจว่าโอกาสและความเสี่ยงมีอะไรบ้าง เพราะไม่ได้รับข้อมูลความช่วยเหลือต่าง ๆ มากนัก
นอกจากนี้ไทยยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงเรื่องระบบภาษีในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพูดถึงในรายละเอียดให้เกิดความชัดเจนโดยไทยควรแก้ไขปัญหาเรื่องการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับนักธุรกิจต่างชาติโดยเฉพาะการนำระบบการให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น เช่น การรับรองลงนามในสัญญาการค้า หรือด้านการบริการทางการเงิน ซึ่งไทยยังใช้ระบบเอกสารกระดาษจำนวนมาก จึงใช้เวลานานในการส่งเอกสารและรอการอนุมัติ เป็นต้น
คุณพรนภา ไทยเจริญ ผู้บริหาร บริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ กล่าวถึงอุปสรรคการลงทุนของเอสเอ็มอีไทยในอาเซียน โดยระบุว่า เรามีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคจำนวนมากทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายในประเทศที่ไปลงทุน กฎหมายการลงทุนของทุกประเทศมีแนวโน้มปกป้องธุรกิจภายในของตัวเอง แต่สามารถแก้ไขให้เอื้อต่อการลงทุนพร้อมกับยังปกป้องธุรกิจภายในประเทศได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นปัญหาที่ระบบมากกว่าวิธีการ หากรัฐบาลมีความจริงใจก็สามารถแก้ไขได้ เช่น กฎหมายการลงทุนของคนต่างด้าว กฎหมายศุลกากร เป็นต้น อีกประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะออกไปสู่เออีซีควรรู้ คือ ต้องรู้กฎหมายภายนอกว่าแต่ละประเทศมีกฎหมายและข้อกำหนดอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ยังขาดอยู่มากและไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีมีความรู้และเข้าใจ
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่าบีโอไอมีการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการขอส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี โดยขนาดโครงการไม่เกิน 200 ล้านบาทในแต่ละปี มีจำนวนโครงการมากถึงร้อยละ 80ของโครงการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าขอส่งเสริมการลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 50ของมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุนในแต่ละปี สิ่งที่บีโอไอพยายามทำในการส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอีคือ สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค (production network) โดยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนกับเอสเอ็มอีไทย เพื่อให้มีการเชื่อมโยงการผลิต ช่วยหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอี สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นจุดอ่อนของเอสเอ็มอีและยังมีการพัฒนาส่วนนี้น้อย นอกจากนี้อยากให้นักลงทุนมองตลาดการลงทุนที่กว้างกว่า 10 ประเทศอาเซียนให้เลยไปถึง“ASEAN Plus” ที่รวม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้วยซึ่งนับเป็นตลาดการลงทุนที่สำคัญ และในแผนการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ บีโอไอได้วางระเบียบการส่งเสริมการลงทุน ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเอสเอ็มอีของไทยมากขึ้น
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า อยากให้มองเออีซีเป็นโอกาส หากไม่ไปวันนี้แล้วรออีก 5 ปีให้หลังแล้วค่อยไป ก็จะทำได้ยาก เพราะผู้ประกอบการที่จะเป็นคู่ค้าก็อาจจะได้คู่ค้าอื่นไปแล้ว แต่การออกไปลงทุนในต่างประเทศของเอสเอ็มอีจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและมีการวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่ดีคือ การเลือกประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นฐานในการทำธุรกิจที่คล้ายกัน การมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำธุรกิจร่วมกันในอาเซียน ต้องมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเน้นการเป็นคู่ค้ามากกว่าคู่แข่ง สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจก็ต้องใช้คุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน จึงจะทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตรายใหญ่ และจะเลือกใช้สินค้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต ไม่ว่าจะย้ายฐานการผลิตไปในประเทศใดก็ตาม สำหรับภาพรวมการลงทุนในอาเซียน ปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจขนาดกลางที่ประสบความสำเร็จออกไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น การขยายธุรกิจไปใน สปป.ลาวของธุรกิจเสริมความงามบางแห่ง เป็นต้น
การที่เอสเอ็มอีไทยจะก้าวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันทางการค้าในอาเซียนอย่างแข็งแรงได้ จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันเสริมจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง โดยเฉพาะการมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของแต่ละประเทศในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวและเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างโอกาสที่ดีเมื่อเออีซีมาถึงในปีหน้านี้