กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--Hill & Knowlton
กทม. มูลนิธิโคคา-โคลาฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ แถลงความสำเร็จโครงการ “Recycle 360องศา รักโลก...ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล”ยก “จตุจักรโมเดล” เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลอย่างครบวงจรและยั่งยืน
- พบ “จตุจักรโมเดล” ก่อให้เกิดประโยชน์ครบ 3 ด้านสู่ความยั่งยืน
- ด้านสิ่งแวดล้อม: ลดปริมาณมูลฝอยรวมร้อยละ 41.2 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,898 ตัน
- ด้านเศรษฐกิจ: ลดค่าใช้จ่ายการจัดการมูลฝอยของกทม. 11.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 สร้างรายได้ให้ประชากรกว่า 6.6 ล้านบาท
- ด้านสังคม: ความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 88 และคิดว่าการจัดการมูลฝอยจำเป็นต้องเริ่มที่ตนเองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับพฤติกรรมการทิ้งมูลฝอยด้านพนักงานเก็บขนพึงพอใจถึงร้อยละ 87
- กรุงเทพมหานครพร้อมนำ “จตุจักรโมเดล” ขยายให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานครต่อไป
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตจตุจักร มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ร่วมแถลงความสำเร็จในการดำเนินงาน “โครงการ Recycle 360องศา รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล” โครงการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลแบบครบวงจรในแขวงจตุจักร เขตจตุจักร โครงการแรกในประเทศไทย ระหว่างปี 2554 – 2556 หลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 และได้มีการดำเนินงานอย่างครบกระบวนการ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เริ่มตั้งแต่ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการทั้ง 10 กลุ่ม รวม 52 แห่ง และพนักงานเก็บคน 77 คน ไปจนถึงการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ซึ่งในวันนี้ “แขวงจตุจักร เขตจตุจักร” ได้ถูกพัฒนาเป็น “จตุจักรโมเดล” พื้นที่ต้นแบบในกรุงเทพมหานครที่มีการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลอย่างครบวงจรและยั่งยืน ที่มีการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และพร้อมเป็นต้นแบบในการนำไปดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต
ผลการดำเนินงานของโครงการ Recycle 360องศา รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล ตลอดระยะเวลา 2 ปี ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลในแขวงจตุจักรได้เฉลี่ยร้อยละ 41.2 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณรวม 17,898 ตัน ด้านเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานครได้รวม 11.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 และสร้างรายได้กว่า 6.6 ล้านบาท ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการ ด้านสังคม ประชากรทั่วไปในพื้นที่มีความพึงพอใจในการจัดการมูลฝอยเพิ่มเป็นร้อยละ 88 และเห็นว่าการจัดการมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากตนเองเพิ่มจากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 75 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและปรับพฤติกรรมการทิ้งมูลฝอย เพิ่มความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแก่พนักงานเก็บขนมูลฝอย โดยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถและเก็บขน ได้ร้อยละ 46.9 ลดอัตราการเกิดโรคจากการทำงาน ได้ร้อยละ 17.7 และพนักงานเก็บขนมูลฝอย ร้อยละ 87 มีความพึงพอใจกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “โครงการ Recycle 360องศา รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบาย “มหานครสีเขียว” ที่มุ่งพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร และลดการปล่อยของเสียในระบบนิเวศให้น้อยที่สุด อีกทั้งให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมสร้างกรุงเทพฯ สาเหตุที่เลือกเขตจตุจักรเป็นพื้นที่ทำร่องก็เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของแหล่งกำเนิดมูลฝอย กับปริมาณมูลฝอยสูงถึง 360 ตันต่อวัน และจำนวนประชากรเฉลี่ยถึง 160,665 คน แนวทางคือ มุ่งกระตุ้นให้ประชาชนเห็นว่ามูลฝอยเป็นทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนนำมาใช้ประโยชน์ได้หากมีการจัดการอย่างเหมาะสมตั้งแต่แหล่งกำเนิด ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระและงบประมาณในการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในระยะยาว”
นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ Recycle 360องศา เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของโคคา-โคลา ที่มีกรอบการทำงานในการสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ไปพร้อมๆ กับส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลใหม่ อันเป็นหนึ่งในการดำเนินงานภายใต้โครงการ Recycle 360องศา นอกจากการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานรวมกว่า 15 ล้านบาท และร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อวางแผนและดำเนินการแล้ว มูลนิธิโคคา-โคลา ยังได้ร่วมกับเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) ทำการสำรวจทัศนคติ ความพึงพอใจ ความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลของประชาชนทั่วไปในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการ”
นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมมีบทบาทหลักในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและอบรมให้ความรู้การจัดการมูลฝอยประเภทต่างๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมทำงาน ตั้งแต่ชุมชน อาคารสำนักงาน สถาบันการศึกษา สวนสาธารณะ ตลาดนัด ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม พนักงานเก็บขนมูลฝอย รวมถึงสถานีขนส่งหมอชิตและสวนโมกข์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทาง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชนให้มีการผลิตมูลฝอยให้น้อยที่สุด ไปจนถึงการสร้างประโยชน์จากมูลฝอยอินทรีย์ และวัสดุรีไซเคิล ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการด้วย”
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการ Recycle 360องศา รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิล ตลอดระยะเวลา 2 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ สำรวจข้อมูลและองค์ประกอบของมูลฝอยในแขวงจตุจักร ก่อนและหลังเริ่มโครงการ จัดการมูลฝอยร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการอย่างเหมาะสมผ่านแผนงานที่แตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ พัฒนาการดำเนินงานของพนักงานเก็บขนมูลฝอย สร้างจิตสำนึก ปรับแนวทางการดำเนินงานของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตจตุจักร ให้สอดคล้องกับมูลฝอยที่เกิดขึ้นจริง ติดตามและประเมินผล และจัดการประกวดและศึกษาดูงานด้านการจัดการมูลฝอยที่เป็นเลิศ โดยการทำงานเน้นที่การให้ความรู้และกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ สื่อสารและทำงานต่อเนื่องร่วมกับประชาชนในพื้นที่ของตน
ภายในโครงการ Recycle 360องศา รักโลก…ทุกวัน ช่วยกันรีไซเคิลยังได้มีการจัดการประกวดและมอบรางวัลการจัดการมูลฝอยที่เป็นเลิศในชุมชนและอาคารสำนักงานที่ร่วมโครงการนำร่องในแขวงจตุจักร เขตจตุจักร ซึ่งผู้ชนะเลิศคือ ชุมชนเคหะสถานเจริญชัย และอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ตามลำดับ ซึ่งรางวัลที่ได้รับคือ โล่รางวัลจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เงินรางวัลมูลค่า 30,000 และ 20,000 บาท ตามลำดับ และการศึกษาดูงานเรื่องการบริหารจัดการมูลฝอย ณ เมืองฟุกุโอกะ และเมืองคิตะชิวชู ประเทศญี่ปุ่น เมืองต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่น เพื่อนำความรู้มาต่อยอดการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลแบบครบวงจรในชุมชนของตนเองและรอบข้างต่อไป
“แขวงจตุจักรเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนในการจัดการมูลฝอย ดังนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการ และกรุงเทพมหานครก็จะใช้ “จตุจักรโมเดล” เป็นต้นแบบในการขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยจะร่วมกับโคคา-โคลาในการอบรมให้ความรู้แขวงอื่นๆ ให้สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการมูลฝอยและวัสดุรีไซเคิลในกรุงเทพมหานคร และทำให้เมืองหลวงของเราเป็นมหานครสีเขียวได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น” นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปิดท้าย