กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--IR network
ผู้ถือหุ้น SOLAR อนุมัติขยายระยะเวลาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบ General Mandate จำนวน 296.77 ล้านหุ้น พร้อมหนุนลงทุนและร่วมลงทุนในระบบสาธารณูปโภค- กิจการโทรคมนาคม-ออกแบบ ก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและตปท. ไฟเขียวจ่ายเงินปันผลงวดปี 56 หุ้นละ 0.05 บาท ด้านผู้บริหาร“ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง”มั่นใจรายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 30% จากปี 56 ทำได้ 1.38 พันลบ. หลังเนื้อหอมออเดอร์ใหม่ไหลเข้าต่อเนื่อง
นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) (SOLAR) ผู้นำในการผลิตแผ่นเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดมัลติ-คริสตัลไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 296.77 ล้านหุ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็วแก่บริษัทในการระดมทุนจำนวนไม่มากเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อภาวะตลาดและปัจจัยแวดล้อมที่ผันผวนตลอดเวลา
ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นยังอนุมัติให้บริษัทลงทุนและร่วมลงทุนในระบบสาธารณูปโภค กิจการโทรคมนาคม กับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กิจการร่วมค้าหรือคณะบุคคลเข้าถือหุ้นในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดชอบในห้างหุ้นส่วนจำกัด ทั้งในประเทศและต่างประเทศกับกิจการทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประกอบกิจการผลิต ออกแบบ ก่อสร้างและจำหน่ายระบบประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ ระบบสะสมไฟฟ้าแบบเชื่อมต่อสายส่ง รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ ของระบบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังอนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2556 (ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.56) ในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท รวมเป็นเงินมูลค่า 24.73 ล้านบาท โดยกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผล วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 และวันที่จ่ายเงินปันผล วันที่ 23 พฤษภาคม 2557
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 30% จากปี 2556 ที่มีรายได้รวม 1,386.25 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะโรงงานผลิตแผ่นเซลล์และแผงแสงอาทิตย์ ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ซึ่งทำให้ SOLAR กลายเป็นผู้ประกอบการรายเดียวในไทยที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือ เริ่มตั้งแต่การนำเวเฟอร์มาผลิตเป็นแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไปจนถึงการเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่สำรวจออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Engineering, Procurement and Construction: EPC) รวมถึงรื้อถอนระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และติดตั้งทดแทนระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น