กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 102.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 123.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 124.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ภาวะการเมืองโลกตึงเครียดจากวิกฤติยูเครน โดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งฝักใฝ่รัสเซีย ที่ยึดครองที่ทำการรัฐในภาคตะวันออก ปฏิเสธจะคืนอาคารและไม่ยินยอมวางอาวุธ ทำให้ปะทะกับทหารของรัฐบาล มีผู้เสียชีวิต 5 ราย รัสเซียตอบโต้รัฐบาลยูเครนที่ใช้ความรุนแรง โดยจัดซ้อมรบบริเวณชายแดนใกล้ยูเครน พร้อมระดมกำลังทหารประมาณสี่หมื่นนาย
- กลุ่มผู้ประท้วงในลิเบียยืนยันท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider ซึ่งส่งออกน้ำมันดิบได้รวม 550,000 บาร์เรลต่อวันจะไม่กลับมาดำเนินการ จนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อตกลงที่เจรจากันไว้ อนึ่งท่าส่งออกข้างต้นถูกปิดตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 56
- อุปทานจากทะเลเหนือตึงตัว อาทิ แหล่ง Buzzard ของสหราชอาณาจักร ซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้วันละกว่า 200,000 บาร์เรล มีแผนซ่อมบำรุงเป็นเวลา 5 วัน ทำให้อัตราการผลิตลดลง
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- สำนักสารนิเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 397.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สำรองน้ำมันดิบบริเวณ Gulf Coast ซึ่งมีโรงกลั่นอยู่หนาแน่น อยู่ที่ 209.6 ล้านบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดใหม่เช่นกัน
- อิหร่านผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น หลังจากชาติตะวันตกผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร โดยในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. 57 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ อิหร่านผลิตปิโตรเลียมเหลว (Liquid Fuel) เฉลี่ยรวม 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯมีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการอายัติเงินของรัฐบาลอิหร่าน 450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลัง International Atomic Energy Agency (IAEA) ระบุอิหร่านลดปริมาณสำรองยูเรเนียมที่ปรับปรุงคุณภาพแล้วลงกว่า 75% ตามข้อตกลงตามพันธสัญญาด้านอาวุธนิวเคลียร์
- Reuters รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากท่าส่งออกทางตอนใต้ของอิรัก เดือน เม.ย. 57 (สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 57) อยู่ที่ 2.55 MMBD สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังแหล่งผลิต West Qurna-2 เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ที่กำลังเบื้องต้น 120 KBD อย่างไรก็ตามยังไม่มีการส่งออกทางตอนเหนือเนื่องจากท่อขนส่ง Kirkuk-Ceyhan (1.6 MMBD) ยังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมหลังเกิดเหตุระเบิดตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 57
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิกฤติยูเครนยังไม่คลี่คลาย อาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องบินไอพ่นรัสเซียเข้าไปในน่านฟ้ายูเครนหลายครั้ง และกลุ่มทหารสังเกตการณ์จาก Organization for Security and Cooperation in Europe (OSCE) จำนวน 13 นาย ถูกกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในยูเครนจับกุมตัวเอาไว้ และชาติตะวันตกประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อาจรวมถึงประธานาธิบดี นายวลาดิมีร์ ปูติน ภายในสัปดาห์นี้ ประกอบกับอุปทานจากลิเบียยังไม่แน่นอน แม้การเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม Petroleum Facility Guard (PFG) มีความคืบหน้า หากแต่ National Oil Co. (NOC) ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการท่า Zueitina, Ras Lanuf และ Es Sider ซึ่งส่งออกน้ำมันดิบได้รวม 700,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม EIA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันส่วนเกินของโลก (ไม่รวมอิหร่าน) ในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรลต่อวัน จากช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. 57 อยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ให้จับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หรือ FOMC ในวันที่ 29-30 เม.ย. 57 ที่จะกำหนดทิศทางและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 104-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 100-104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ล่าสุด ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 57 ลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียหลายแห่งลดอัตราการกลั่นลง หรือหยุดดำเนินการ เพื่อซ่อมบำรุงตามแผน ทั้งนี้อุปสงค์น้ำมันเบนซินจากอินโดนีเซียในเดือน พ.ค. 57 อาจเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ เดิมที่ 8.3-8.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณสำรองอยู่ที่ระดับต่ำ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122-126 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. 57 ลดลง 0.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อุปสงค์น้ำมันดีเซลจากกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจเพิ่มขึ้น ก่อนเข้าสู่เทศกาลถือศีลอด สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 123-127 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล