กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2557 จำนวน 1,107 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 28.3, 42.3 และ 29.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 57.0, 10.0, 10.6, 10.8 และ 11.6 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 84.5 และ 15.5 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 57 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเกิดจาก ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ จากปัญหาการเมือง ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว เห็นได้จากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุน และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไปจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่ามีความจำเป็นมากที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนมีนาคม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 80.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมยา และสมุนไพร เป็นต้น ขณะเดียวกันค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 97.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และ ผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 82.6 ลดลงจากระดับ 86.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.1 ลดลงจากระดับ 100.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 95.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ค่าดัชนีฯ ของภาคตะวันออก และภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์
ภาคกลาง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 81.1 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 81.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบค่าดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในภาวะอ่อนแอ จากการได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการเมือง ทำให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าประเภทรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ ที่มียอดคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางรถยนต์ ท่อ อะไหล่ มียอดการส่งออกไปญี่ปุ่นลดลง, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์ประเภทอลูมิเนียม เช่น วัสดุ อุปกรณ์ ชิ้นส่วน มียอดขายในประเทศลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของภาคกลางอยู่ที่ระดับ 97.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 89.2 ลดลงจากระดับ 91.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคเหนือในเดือนนี้ ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ประกอบกับไม่สามารถปรับราคาขายได้ ส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ขณะเดียวกันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคเหนือยังกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอีกด้วย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าประเภทผ้าผืน เสื้อไหมพรม เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศลดลง, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง ที่มีขนาดใหญ่ หินตกแต่ง มียอดขายในประเทศลดลง, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ ยอดคำสั่งซื้อหลังคาสังกะสีและหลังคาเหล็กเคลือบในประเทศลดลง สินค้าประเภทชิ้นส่วนมุงหลังคาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มียอดขายลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 82.5 ปรับลดลงจากระดับ 87.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมีนาคม ได้แก่ ปัญหาการเมืองที่กระทบต่อการผลิตจากการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ยังประสบปัญหา สภาพคล่องและปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งเริ่มรุนแรงขึ้นจึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล ที่มีผลผลิตน้ำตาลในประเทศลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากประเทศ อินเดีย อเมริกา ญี่ปุ่น ลดลง, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สินค้าประเภทรถไถนา เครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ทางการเกษตร มียอดขายในประเทศลดลง รวมทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ มียอดขายปุ๋ยชีวภาพและน้ำสกัดชีวภาพในประเทศลดลง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.8 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 94.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 87.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ภาคการส่งออกเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีฯยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาทางการเมือง ทำให้ยังชะลอแผนการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมือง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภท ถุงพลาสติก หลอด บรรจุภัณฑ์ในประเทศเพิ่มขึ้น, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น มียอดขายเครื่องปรับอากาศในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดการส่งออกคอมเพรสเซอร์ ก็มียอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ มียอดสั่งซื้อแผงวงจรพิมพ์ สายไฟ จากประเทศจีน และอเมริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่ Smart Phone, NetBook มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับ ภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 90.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยจากผลการสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวของภาคการส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่มีค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าประเภทถุงมือยาง ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และไม้ยางพาราแปรรูป มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ด้านอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง มีการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ดีขึ้น แต่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทสัตว์น้ำ เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดอ่าว ขณะที่ปัญหาโรคกุ้งตายด่วนก็ยังไม่คลี่คลาย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของภาคใต้อยู่ที่ระดับ 100.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากในเดือนกุมภาพันธ์
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 81.9 ลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม, อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 99.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ 99.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 82.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบค่าดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 91.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน และสภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยังคงมีความกังวลอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมีนาคมนี้ คือ ต้องการให้มีการเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็ว โดยใช้สันติวิธี ขณะเดียวกันภาครัฐควรหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ มีการเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับประเทศ คู่ค้าสำคัญที่ยังไม่มีความตกลงระหว่างกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงควรมีการกำหนดนโยบายและโครงการสนับสนุนด้านการประหยัดพลังงานให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2345-1013, 0-2345-1017