กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--สช
การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๗ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๙ โดยจะเสนอมติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และเร่งขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๙ จะรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ปริมาณผู้ป่วยจากโรคร้ายแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิต อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ดังนั้น จำเป็นต้องมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี (Quality of Life) จากไปอย่างสงบ เผชิญความตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และ “ตายดี” (Quality of Death) โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตและมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก
ประธานคสช.กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย การเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะทุกวันนี้การรักษาพยาบาลมุ่งไปที่การทุ่มทรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อ “ยื้อชีวิต” เอาไว้ ทั้งๆที่หลายครั้งเป็นการลงทุนลงแรงที่สูญเปล่า แต่หากขาดความเข้าใจอาจทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจว่าถูกละเลย ไม่ได้รับการรักษาได้ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ฯนี้จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย ๔ ด้าน ได้แก่ สิทธิการมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจากไป ระบบบริการการแพทย์สาธารณสุข และการดูแลแบบประคับประคอง(Palliative care) ไม่ว่าจะที่สถานพยาบาลหรือที่บ้าน และ ค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรม คุ้มค่า ไม่เป็นภาระต่อญาติผู้ป่วยสำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติ ครอบคลุม ๓ แนวทางหลัก ประกอบด้วย ๑. การเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการมีสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต และตายดี ๒. พัฒนาและจัดระบบบริการดูแลประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิตที่มีคุณภาพ และมาตรฐาน และ๓. การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ ทั้งด้านการแพทย์ สถานบริการ การเงิน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เป็นธรรม นวัตกรรมการดูแลแบบประคับประคอง การประเมินความคุ้มค่าของยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ได้ร่วมทำงานกับองค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย และใช้เวลากว่า ๒ ปี ในการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผน หน่วยงานต่างๆที่เป็นภาคีก็พร้อมจะเข้ามาสนับสนุน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะร่วมมือในการสนับสนุนให้มีกลไกประสานงาน และบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมใช้ประโยชน์ .มีการเตรียมการเพื่อเสนอให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พิจารณาจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพสำหรับการดูแลประคับประคอบผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย และขณะนี้ สช. ได้จัดทำคู่มือสำหรับการดูแลประคับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชนให้เข้าใจในเบื้องต้นแล้ว
ฃ