โพลล์สำรวจความรับรู้ของชาวไทยในวันแรงงานชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 30, 2014 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจความรับรู้ของชาวไทยในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ทำการสำรวจประชาชน ในกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 18-55 ปี ไม่เจาะจงอาชีพและวุฒิการศึกษาโดยวิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ในระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2557 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,069 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์การการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของประเทศไทยในปี 2558 ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,069 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.36 ขณะที่ร้อยละ 48.64 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 33.68 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 26 ถึง 35 ปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 36.86 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.14 และร้อยละ 26.94 เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนและลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจตามลำดับ ในด้านความรับรู้ต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.74 ทราบว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 นี้แล้ว สำหรับแหล่งข้อมูลที่กลุ่มตัวอย่างได้รับรู้/รับทราบ/เคยได้ยินเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสูงสุด 5 แหล่งคือ สื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 83.82 สื่อวิทยุ คิดเป็นร้อยละ 80.73 ฟังผู้อื่นเล่า คิดเป็นร้อยละ 78.67 สื่อหนังสือพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ 72.5 และสื่ออินเทอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 69.41 ในด้านความสนใจต่อการเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.39 ระบุว่าตนเองไม่ให้ความสนใจที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศอื่น ๆ ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.43 ให้ความสนใจ ส่วนในด้านศักยภาพทางด้านฝีมือแรงงาน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.28 มั่นใจว่าตนเองมีศักยภาพด้านฝีมือแรงงานที่สามารถแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่นๆ ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้ แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.15 ไม่มั่นใจว่าจะแข่งขันได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.12 ระบุว่าสิ่งที่ตนเองต้องพัฒนามากที่สุดเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือทักษะทางด้านภาษา รองลงมาร้อยละ 19.27 ระบุว่าตนเองต้องพัฒนาคุณวุฒิทางการศึกษามากที่สุด สำหรับปัญหา/อุปสรรคที่กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าต้องพบเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสูงสุด 5 อันดับได้แก่ ถูกชาวต่างชาติจากประเทศอื่นในกลุ่ม AEC แย่งงานทำ คิดเป็นร้อยละ 81.85 มีโอกาสถูกกดค่าจ้างมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 79.23 มีโอกาสถูกเลิกจ้างงานสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 76.33 มีโอกาสเลือกงานทำได้น้อยลง คิดเป็นร้อยละ 74.28 และคุณสมบัติในการสมัครงานมีมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 71.28 แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปัญหาด้านปากท้อง/ค่าครองชีพประจำวัน เช่น ราคาสินค้าอุปโภค/บริโภค ราคาค่าบริการต่าง ๆ กับปัญหาที่เกิดจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.51 ยอมรับว่ากังวลปัญหาปากท้อง/ค่าครองชีพมากกว่า
แท็ก วันแรงงาน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ