กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--มูลนิธิไทยคม
มูลนิธิไทยคม จัดอบรมเกษตรกร ชุมชนบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(มกท.) มาให้ความรู้เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนขอตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อขอตราสัญลักษณ์ IFOAM คาดว่าหากสามารถผ่านเกณฑ์การตรวจดังกล่าว จะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะ "ข้าว" ไปยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูงขึ้น
โดยกลุ่มเยาวชนและเกษตรอินทรีย์บ้านลิ่มทอง ผู้ผลิต ”ข้าวจิ๊บ” ชุมชนบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในชุมชนที่จัดตั้งกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากการใช้สารเคมีมาเป็นการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดยการนำของ น้าน้อย นางสนิท ทิพย์นางรอง ผลิตข้าวจิ๊บอินทรีย์ส่งให้มูลนิธิไทยคม หลังจากนั้นได้มีการตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านลิ่มทอง เพื่อขับเคลื่อนงานภายในเครือข่ายชุมชน และการขยายสมาชิกจาก 1 ครอบครัว จำนวน 20 ไร่ เพิ่มเป็นจำนวน 14 ครอบครัว และมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 165 ไร่ เพื่อเริ่มพัฒนาระบบการปลูกข้าวอินทรีย์
และได้เข้าร่วมอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(IFOAM) เพื่อสร้างมาตรฐานการปลูกข้าว โดยวิทยากรจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(มกท.) มาให้ความรู้ในเรื่องระบบประกันคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการขอรับรองแบบกลุ่มที่มีระบบควบคุมภายใน ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมยังได้ทดลองฝึกตรวจรับรอง ซึ่งคาดว่าหากกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านลิ่มทอง สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(IFOAM) ได้ จะสามารถผลิตข้าวจิ๊บอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงทางโภชนาการ ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค และสามารถจัดจำหน่ายได้ภายในประเทศพร้อมออกสู่ตลาดโลกได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรในชุมชน เป็นการช่วยสร้างงานให้เกิดในชุมชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในสังคมชนบทไม่ให้แรงงานย้ายออกไปทำงานต่างถิ่น
หากประเทศไทยสามารถเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(IFOAM) ได้มากเพียงพอ และสามารถสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าในตลาดโลกได้ อนาคตการครองตลาดส่งออกข้าวเกษตรอินทรีย์ของไทยก็มีสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิไทยคมเป็นองค์กรการกุศลที่ส่งเสริมเรื่องการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนไทย เพื่อให้เด็กไทย “คิดเป็น ทำเป็น” และสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการทำเกษตรกรรม พัฒนาเยาวชนสู่เกษตรกรมืออาชีพ เพื่อการสร้างงานสร้างอาชีพในสังคมชนบทอย่างยั่งยืน