กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส.คาดเงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา เป็นไปตามเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท หลังหน่วยงานภาครัฐ เช่น อบต. อบท. นำเงินมาร่วมสมทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ ธ.ก.ส.นำเงินไปช่วยเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินรับจำนำข้าวจนยอดทะลุเฉียดหมื่นล้านในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่มาตรการยืดหนี้พร้อมให้วงเงินสินเชื่อใหม่ และวงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร เพื่อนำไปลงทุนในรอบการผลิตใหม่ ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะประธานกองทุนช่วยเหลือชาวนา เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส.ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปที่มีจิตอันเป็นกุศลและห่วงใยชาวนา รวมถึงส่วนงานภาครัฐ เช่น อบต. อบจ. เทศบาล ที่หลังจากทราบเงื่อนไขชัดเจนว่าสามารถนำเงินงบประมาณที่มีอยู่มาฝากสมทบในกองทุนช่วยเหลือชาวนา เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ได้นั้น ทำให้ยอดบริจาคและยอดสมทบในกองทุนช่วยเหลือชาวนาตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม จนถึง 30 เมษายน 2557 ในกองทุนที่ 1 คือ “กองทุนช่วยเหลือชาวนา(เงินบริจาค)” เลขที่บัญชี 0200-3-3477-582 ธ.ก.ส.สาขาบางเขน มีจำนวน 24,595,247.74 บาท กองทุน
ที่ 2 เงินสมทบ “กองทุนช่วยเหลือชาวนา(แบบรับเงินต้นคืน-ไม่มีผลตอบแทน)” มีจำนวน 869,200,112.74 บาท และกองทุนที่ 3 เงินสมทบ “กองทุนช่วยเหลือชาวนา(แบบรับเงินต้นคืน-มีผลตอบแทน)” ร้อยละ 0.63 ต่อปี มีจำนวน 7,525,970,873.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 8,419,766,233.72 บาท โดยคาดว่าก่อนสิ้นสุดการรับบริจาคและสมทบในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ยอดกองทุนที่จะนำไปช่วยเหลือชาวนาจะครบตามเป้าหมาย 20,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
ประธานกองทุนช่วยเหลือชาวนากล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เงินไปถึงมือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในเวลาอันรวดเร็วตามความประสงค์ของผู้ร่วมบริจาคและผู้ร่วมสมทบ คณะกรรมการกองทุนได้วางกรอบในการจัดสรรเงินดังกล่าวไปให้กับ ธ.ก.ส.อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรตามมูลค่าข้าวเปลือกในใบประทวน เช่น ล่าสุดจัดสรรเงิน
กองทุนช่วยเหลือชาวนาไปแล้ว 4,500 ล้านบาท โดยกระจายไปยัง ธ.ก.ส. ทุกสาขาเพื่อส่งต่อไปยังเกษตรกร ตามคิวใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. ตามลำดับก่อนหลังอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ประมาณ 30,000 ราย
อย่างไรก็ตามในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและอยู่ระหว่างรอรับเงินจำนำข้าว ธ.ก.ส ได้ยืดเวลาการชำระหนี้เดิมที่ชาวนามีอยู่กับ ธ.ก.ส. ไปอีก 6 เดือน โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการยืดหนี้ดังกล่าวแล้วจำนวน 468,860 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้จำนวน 61,000 ล้านบาท และสนับสนุนสินเชื่อก้อนใหม่เพื่อนำไปลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลใหม่หรือค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จำเป็นในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี หรือร้อยละ 0.583 ต่อเดือน เพื่อลดปัญหาการไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงและเป็นภาระหนัก โดยมีเกษตรกรที่ยื่นขอกู้ ณ สิ้นเมษายน 2557 แล้วทั้งสิ้น 130,512 ราย วงเงินกู้ 9,085 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีเกษตรกรที่ใช้วงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกรอีกจำนวน 569,988 ราย จำนวนเงิน 9,653 ล้านบาท จากมาตรการดังกล่าวทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากแล้วจำนวน 18,738 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ในเบื้องต้น 700,500 ราย
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ณ วันปิดโครงการคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557ในภาคต่างๆ ยกเว้นภาคใต้ มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับใบประทวนทั้งสิ้น 1,527,290 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 11.61 ล้านตัน จำนวนเงิน 190,769 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรจนถึงวันที่ 29 เมษายน 2557 แล้วจำนวน 96,053 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 5.87 ล้านตัน จำนวนเกษตรกรที่ได้รับเงินแล้ว 784,682 ราย จากยอดจัดสรรทั้งหมด 99,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณและเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 75,000ล้านบาท เงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 4,500 ล้านบาท และงบกลางที่รัฐบาลขออนุมัติมาจาก กกต. อีก 20,000 ล้านบาท