กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--มัคคานซิส
มัคคานซิส ได้ทำการสำรวจตลาดโปรโมชั่นของบริการไร้สาย หลังจากที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายได้เริ่มการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz อย่างเป็นทางการ ผลการสำรวจพบว่า มีโปรโมชั่นกว่า 1,000 แพ็กเกจ ที่รองรับผู้ที่ต้องการใช้งาน 3G ซึ่งส่วนใหญ่พ่วงมาพร้อมกับอุปกรณ์สมาร์ดีไวซ์ พร้อมใช้งาน
ตลอดครึ่งปี 2556 ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการบริการสื่อสารไร้สายรายหลัก ไม่ว่าจะเป็น AIS, Dtac และ Truemove H หรือแม้แต่ผู้ให้บริการภาครัฐ ทั้ง TOT และ CAT ได้มีการตื่นตัวในการทำตลาดของบริการ 3G อย่างต่อเนื่อง ด้วยดีกรีที่ดุเดือดไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ 3 รายหลัก ซึ่งหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการขยายพื้นที่การให้บริการ โดยสามารถครอบคลุมได้มากกว่าครึ่ง (50%) ของประชากรทั้งหมด และทำได้ก่อนกำหนดล่วงหน้า จึงมีการการกระตุ้นกิจกรรมทางการตลาด 3G บนคลื่นความถี่ใหม่ผสมความถี่เดิม ในขณะที่กลยุทธ์ของ AIS ค่อนข้างแตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากเน้นทำการตลาดบนคลื่นความถี่ใหม่ 2100 MHz ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการจากภาครัฐฯ อย่าง TOT ก็ได้เวลาหันกลับมาทำกิจกรรมทางการตลาดอีกครั้ง หลังจากติดตั้งสถานีฐานแล้วเสร็จตามแผนกำหนดการในเฟสแรกในต้นปี 2557 จำนวน 5,320 แห่ง
ในส่วนของแพ็กเกจการให้บริการ จากการสำรวจตลาดของ มัคคานซิส พบว่า ผู้ให้บริการมีการออกแพ็กเกจมาในรูปแบบหลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มผู้ใช้งาน ให้มากที่สุด โดยผู้ให้บริการทั้ง 5 ราย ได้แก่ AIS, dtac, Truemove H, CAT และ TOT มีการออกแพ็กเกจ เพื่อรองรับการใช้งานบริการสื่อสารไร้สาย โดยมีจำนวนรวมกันทั้งหมดกว่า 1,000 แพ็กเกจ โดยในครึ่งปี 2557 แพ็กเกจส่วนใหญ่ ยังคงเป็นแพ็กเกจเดิมที่ได้รับความนิยมจากปี 2556 แต่มีการเพิ่มทางเลือก และปรับให้เข้ากับตามกลุ่มผู้ใช้ ที่ครอบคลุมกลุ่มแมส หรือ ประชากรกลุ่มใหญ่มากขึ้น โดยแพ็กเกจมีให้เลือกทั้งรูปแบบเติมเงินหรือรายเดือน แต่ส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นการให้โปรโมชั่นในรูปแบบรายเดือน และเน้นเฉพาะกลุ่มผู้ย้ายเครือข่ายและเปิดเบอร์ใหม่ เนื่องจากเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และรายได้เฉลี่ยให้กับผู้ให้บริการ ในระยะยาว
อย่างไรก็ดี แม้แพ็กเกจที่เห็นอยู่ในตลาดจะมีจำนวนมาก แต่ยังคงจำกัดในเรื่องความหลากหลาย เนื่องจากกลยุทธ์ของผู้ให้บริการรายหลักทั้ง 3 ราย ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันและการให้บริการยังคงเกาะกลุ่มกัน ในขณะที่โปรโมชั่นหลักยังคงมีรูปแบบที่คล้ายกัน เพียงแต่มีบริการเสริมเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้ใกล้เคียงกับพฤติกรรมการใช้งาน แต่ราคาเฉลี่ยยังคงมีแนวโน้มที่เกาะกลุ่มกัน แพ็กเกจสมาร์ทดีไวซ์ส่วนใหญ่ จะเน้นการให้บริการในรูปข้อมูล (data services packages) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำเสนอด้วยการให้แบนด์วิธที่สูงขึ้นเป็น 1-2 เท่าจากแพ็กเกจที่สมัคร ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการแข่งขัน แต่ยังคงด้วยเงื่อนไขระยะเวลาในการเพิ่มแบนด์วิธ ซึ่งผู้ใช้งานต้องอ่านข้อมูลให้ละเอียดและทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ ตลอดจนการผูกมัดในเรื่องของการครอบครองอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ ที่ออกมาพ่วงกับแพ็กเกจราคา
นางสาวเฉลิมพร อภิบุณโยภาส นักวิเคราะห์จาก มัคคานซิส ให้ความเห็นเพิ่มเติม จากการสำรวจ ราคาเฉลี่ยต่อเลขหมาย ในประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่าราคาอยู่ในระดับกลาง และมีแนวโน้มค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น ในขณะที่ ความหลายหลากและทางเลือกของแพ็กเกจ มีมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการเปรียบเทียบ และทำความเข้าใจ มากยิ่งขึ้น