กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกวุฒิสภา
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมา รายการเกาะติดวุฒิสภา วิทยุรัฐสภา ได้สัมภาษณ์ ส.ว.วิบูลย์ คูหิรัญ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยในด้านอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการนั้น ส.ว.วิบูลย์ ระบุว่าคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือ ศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร การส่งเสริมพัฒนา การจัดหา การใช้ การอนุรักษ์พลังงานการแสวงหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก การศึกษาผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากการจัดหาและการใช้พลังงาน ความมั่นคงด้านพลังงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส.ว.วิบูลย์ระบุต่อไปว่า ในการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ก็ได้มีการศึกษาติดตามในหลายๆ เรื่อง เทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงาน เช่น การนำสาหร่ายมาผลิตเป็นน้ำมันที่มีหลายหน่วยงานเริ่มศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่ายน้ำมันของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ล็อกซเล่ย์ ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้พบว่ายังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัยมีต้นทุนต่อลิตรสูงอยู่
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องอิเล็คโตรแมกเนติกส์ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้ไปดูงานเครื่องต้นแบบมา แต่ก็ยังมีความกังขาด้านทฤษฎีความเป็นไปได้อยู่แต่ก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนเรื่องสมาร์ทกริดนั้นทางคณะกรรมาธิการก็ให้ความสนใจเพราะจะช่วยเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า การส่ง การจำหน่ายหรือแจกจ่ายไฟฟ้าและบริการผู้ใช้ไฟฟ้า
ในเรื่องของพลังงานทดแทนนั้นพบว่าปัจจุบันรัฐบาลให้การสนุบสนุนอยู่หลายเรื่อง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ทั้งนี้การสนับสนุนให้ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งกระทรวงพลังงานเคยตั้งเป้าการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ไว้ถึง 10,000 เม็กกะวัตต์ ซึ่ง 1 เม็กกะวัตต์นั้นจะต้องใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 700 - 1,000 ไร่ โดย ส.ว.วิบูลย์ ให้ความเห็นว่าจะต้องมีการศึกษาวิจัยนำร่องก่อน แล้วค่อยทยอยทำในแต่ละพื้นที่ และหากจะทำจริงๆ ก็อาจจะต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าอีกถึง 10,000 โรง ซึ่งจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ประกอบโรงไฟฟ้าในประเทศควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยลดต้นทุนการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ส.ว.วิบูลย์ มองว่าพลังงานทดแทนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศก็คือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะหรือน้ำเสียของโรงงานต่างๆ หรือน้ำเสียจากการจากการผลิตด้านการเกษตร มาหมักเป็นก๊าซหรือทำเป็นเชื้อเพลิงอัดเป็นก้อนหรือ (RDF) ไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าก็จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย
ในประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ส.ว.วิบูลย์ ระบุว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้ก๊าซในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงเกินไป ควรจะมีการเพิ่มสัดส่วนตัวเลือกของชนิดเชื้อเพลงของโรงไฟฟ้าเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพิ่มการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากน้ำของประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพสูงไม่ว่าจะเป็นลาวหรือพม่า และท้ายสุดอาจจะหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเทคโนโลยีและบุคคลากรของเรามีความพร้อมมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีโครงการที่จะสร้างอยู่แล้ว ทั้งนี้ในภูมิภาคนี้คงจะเลี่ยงพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ไม่ได้ และหากจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก็ควรที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อควบคุมมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป้นการก่อสร้าง การใช้เทคโลยีที่ปลอดภัย และต้องควบคุมให้ได้ตามมาตรฐานนั้นๆ ด้วย.