กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทในฐานะผู้ให้บริการด้านข่าวสารผ่านทางสื่อหลากหลายประเภท ตลอดจนสถานะที่แข็งแกร่งของหนังสือพิมพ์ของบริษัทอันประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” หนังสือพิมพ์ “The Nation” และหนังสือพิมพ์ “คม ชัด ลึก” และความสามารถของคณะผู้บริหาร ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทจากโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลด้วย อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัญหาในการดำเนินธุรกิจหนังสือพิมพ์ทั้งการโฆษณาที่ชะลอตัวและแนวโน้มที่ลดลงของยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอล แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงโอกาสเติบโตของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้น อันดับเครดิตจะได้รับการปรับขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงโดยไม่กระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิตมีโอกาสที่จะถูกปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ในกรณีที่บริษัทมีต้นทุนในการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ “เนชั่นกรุ๊ป” เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อในระดับแนวหน้าของไทย ณ เดือนธันวาคม 2556 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ประกอบด้วย นายสุทธิชัย แซ่หยุ่น (9.20%) และนายเสริมสินสมะลาภา (9.08%) ธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ สาระบันเทิง การศึกษา การพิมพ์ และขนส่ง ในปี 2556 บริษัทมียอดขายรวม 2,864 ล้านบาท ธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์ และธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ โดยสร้างรายได้ 59% และ 26% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2556 ในขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ ช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักดังกล่าว
รายได้หลักจากธุรกิจหนังสือพิมพ์มาจากรายได้การขายโฆษณาและยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ คือ “กรุงเทพธุรกิจ” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน “The Nation” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน และ “คม ชัด ลึก” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน โดยในปี 2556 รายได้จากการขายโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์คิดเป็นสัดส่วน 43% ของยอดขายรวมของบริษัท และยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์คิดเป็นสัดส่วน 15% ของยอดขายรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของรายได้จากธุรกิจหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจหนังสือพิมพ์ 1,958 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของยอดขายรวม และในปี 2556 ลดลงเหลือ 1,686 ล้านบาท หรือ 59% ของยอดขายรวม การลดลงดังกล่าวสะท้อนถึงความนิยมในการอ่านหนังสือพิมพ์แบบดั้งเดิมที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์และสื่อสมัยใหม่อื่น ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าโอกาสเติบโตของสื่อหนังสือพิมพ์มีจำกัด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ของโลก นอกจากนี้ ความนิยมในการใช้อินเตอร์เน็ทและการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ก็ยังส่งผลลบต่อการเติบโตของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบเดิมด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยเอาไว้ได้
ในทางตรงข้าม รายได้จากธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพเพิ่มขึ้นจาก 15% ของยอดขายรวมในปี 2551 เป็น 26% ในปี 2556 หรือจาก 397 ล้านบาท เป็น 751 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ซึ่งกำลังถึงจุดอิ่มตัวเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัท ธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพก็เป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นกลุ่มสำคัญที่จะสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคตให้แก่เนชั่นกรุ๊ป ในช่วงปลายปี 2556 บริษัทและบริษัทย่อยชนะการประมูลช่องทีวีดิจิตอล 2 ช่อง ได้แก่ช่องวาไรตี้ ความคมชัดมาตรฐาน และช่องข่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าการเข้าสู่ธุรกิจฟรีทีวีจะช่วยให้ธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมากจากปัจจุบัน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดทีวีดาวเทียมของบริษัทในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายโฆษณาของฟรีทีวีมีมูลค่าสูงกว่าของทีวีดาวเทียมถึง 7 เท่า และสูงกว่าของหนังสือพิมพ์ 4 เท่า อย่างไรก็ดี การแข่งขันจะสูงขึ้นเพราะจะมีจำนวนช่องทีวีเพิ่มเป็น 24 ช่อง รวมทั้งช่องสาธารณะอีก 24 ช่อง ในขณะที่ปัจจุบันมีอยู่ 6 ช่อง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดฟรีทีวีด้วยแบรนด์ Nation Channel ที่แข็งแกร่งและความสามารถของบริษัทในการผลิตรายการข่าวและสาระความรู้ที่มีคุณภาพ การเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพจะช่วยลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์และจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะขาลงของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์
ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง หลังจากประสบภาวะขาดทุนในอดีต บริษัทเริ่มมีฐานะการเงินดีขึ้นตั้งแต่ปี 2553 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายรวมอยู่ระหว่าง 14%-16% เปรียบเทียบกับ 2%-5% ระหว่างปี 2548-2552 อัตรากำไรที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการโฆษณาและการควบคุมต้นทุน สภาพคล่องของบริษัทก็ปรับดัวดีขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม ที่ปรับตัวดีขึ้น
ในช่วงกลางปี 2556 เนชั่นกรุ๊ปและบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (NBC) และ บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NINE) ได้ระดมทุนรวมกันจำนวน 2,137 ล้านบาท โดยเงินที่ได้รับมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ในการประมูลช่องทีวีดิจิตอลและการลงทุนที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดการประมูล บริษัทได้นำเงินดังกล่าวไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นบางส่วน ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 45.9% ในปี 2555 เหลือ 13.3% ณ สิ้นปี 2556 บริษัทประมูลใบอนุญาตประกอบการช่องทีวีดิจิตอล 2 ช่อง ที่ราคาประมูล 3,538 ล้านบาท ซึ่งตามกฎของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ค่าใบอนุญาตดังกล่าวจะแบ่งชำระออกเป็น 6 งวด ดังนั้น ซึ่งจะไม่เป็นภาระทางการเงินกับบริษัทมากเกินไป บริษัทมีแผนจะลงทุน 200-500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจดิจิตอลทีวีของบริษัท เมื่อรวมค่าประมูลใบอนุญาต และเงินที่จะใช้ลงทุนตามแผนของบริษัทแล้ว บริษัทจะต้องใช้เงิน 800-1,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2559 ภายใต้สมมติฐานของ
ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอย่างน้อย 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งเมื่อรวมกับสภาพคล่องที่สำรองเอาไว้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บริษัทจะสามารถบริหารค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้
รายได้ค่าโฆษณาถือเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยทั่วไป งบโฆษณาสำหรับทุกสื่อจะแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ งบโฆษณาในฟรีทีวีเติบโตอย่างสม่ำเสมอในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.3% ในขณะที่งบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์มีความผันผวนมากกว่า ทำให้มูลค่ารวมของการโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ไม่เติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นที่คาดหมายว่าการเกิดขึ้นของฟรีทีวีรูปแบบใหม่จะช่วยเพิ่มฐานรายได้ให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญในภาวะที่รายได้จากธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะใกล้อิ่มตัวของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทย หากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอล โครงสร้างรายได้หลักของบริษัทจะเปลี่ยนจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ไปเป็นธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า