กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สสค.
สสค. ร่วมกับ คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีฯ จันทบุรี จับมือ สนง.ปชส.จันทบุรี จัดทำห้องสมุดชุมชน “สานฝัน ปันใจ สร้างสายใจให้น้อง” ณ ชุมชนย่อยที่ 10 เทศบาลเมืองจันทบุรี เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัดจันทบุรี จับมือ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดจันทบุรี จัดทำห้องสมุดชุมชน “สานฝัน ปันใจ สร้างสายใยให้น้อง” ให้แก่ชุมชนย่อยที่ 10 (เนินเอฟเอ็ม) เทศบาลเมืองจันทบุรี ตาม โครงการความร่วมมือด้านการสื่อสารจังหวัดดีเด่น เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในระดับชุมชน จุดประกายความหวังและสร้างเป้าหมายการดำเนินชีวิตแก่เด็ก เยาวชน และสมาชิกชุมชน พร้อมถ่ายทอดโมเดลการจัดทำห้องสมุดสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก นายสมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงาน
รศ.ดร.กำจร หลุยยะพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร โครงการวิจัยติดตามและประเมินผลการประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับคุณภาพการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สสค.เปิดเผยว่า จังหวัดจันทบุรีเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดดีเด่นในโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่องครูสอนดี ซึ่งทางสสค.ได้สนับสนุนให้จังหวัดจันทบุรี ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการสื่อสารจังหวัดดีเด่นร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดได้มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
“สสค.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้และห้องสมุดชุมชนที่จำเป็น อีกทั้งยังได้ส่งมอบ 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย รวมถึงหนังสือสารานุกรมให้แก่ห้องสมุดชุมชนแห่งนี้ ซึ่งประโยชน์ของห้องสมุดนอกจากจะเป็นสถานที่ให้เด็กได้มาค้นคว้าหาความรู้และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแล้ว ยังเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มาทำงานร่วมกัน ทั้งการกำหนดวิธีส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมโดยใช้ความต้องการของเด็กในชุมชนเป็นที่ตั้ง ความคิดต่อยอดในการบริหารจัดการห้องสมุดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิตด้วยการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญก็คือชุมชนจะเกิดการตระหนักและกำหนดแนวทางดูแลพัฒนาห้องสมุดของตนเองให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ดีสำหรับลูกหลานในชุมชน” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสาร ฯ สสค.กล่าว
ด้าน ดร.วิวัฒน์ เพชรศรี ประธานคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า การสร้างห้องสมุดให้แก่ชุมชนเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กได้อ่านและค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองชอบ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นตำราเรียนเท่านั้น เพราะห้องสมุดชุมชนสานฝัน ปันใจ สร้างสายใยให้น้อง เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีหนังสือหลากหลายประเภทและมีสื่อการเรียนรู้อื่นๆ ที่มีประโยชน์อีกมากมาย อาทิ สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อฝึกทักษะการอ่าน ชุดของเล่นเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก เกมส์คอมพิวเตอร์เพื่อส่งเสริมไหวพริบและจินตนาการ รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน และหนังสือการ์ตูนที่เหมาะสำหรับเด็ก ฯลฯ
“ความหลากหลายของสื่อการเรียนรู้ในห้องสมุด จะช่วยให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองเพิ่มเติมจากการเรียน.นห้องเรียนปกติ โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือต้องหยุดเรียนกะทันหัน การอ่านจะช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กได้เพิ่มเติมความรู้ที่จำเป็นเพื่อจะก้าวตามโลกได้ทัน สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถปกป้องตนเองให้พ้นจากอบายมุข และมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้พี่ๆ น้องๆ ได้ทำกิจกรรมและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ คอยให้คำปรึกษาซึ่งกันและกันได้ เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง จึงแทบไม่มีเวลาพูดคุยกันในครอบครัว ดังนั้นเมื่อเด็กๆ ได้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรวมกลุ่มกัน ก็จะสามารถช่วยดูแลสอดส่องกันเองได้” ประธานคณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีฯ จังหวัดจันทบุรีกล่าวสรุป