กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สสค.
เพราะในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนจาก “ชุมชนเนินเอฟเอ็ม” หรือ “ชุมชนย่อยที่ 10 เทศบาลเมืองจันทบุรี” จำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษา บ้างก็ต้องหลุดออกนอกระบบก่อนวัยอันควร เนื่องจากสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บขยะและค้าของเก่า ทำให้มีปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย ซ้ำยังถูกมองว่าเป็น “พื้นที่เสื่อมโทรม” และเป็นแหล่งรวมของสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่น จาก “โครงการครูสอนดี” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ให้เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา จึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนเนินเอฟเอ็ม ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” ในการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และอบายมุขต่างๆ จนเกิดเป็นกระบวนการทำงานที่ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม ที่สามารถกระตุ้นชุมชนให้เห็นความสำคัญกับ “การศึกษา” สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่
ดร.วิวัฒน์ เพชรศรี คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า เมื่อได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดดีเด่น คณะกรรมการฯ ที่มาจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ก็มาระดมความคิดเห็นกันว่าควรใช้งบประมาณที่ได้รับในการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้สร้างพื้นที่ต้นแบบ จึงเน้นการทำงานไปใน 2 ประเด็นคือ เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ และเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะออกจากระบบ โดยกลุ่มแรกนั้นได้จัดค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ระหว่างครูและเด็กนักเรียนจำนวน 6 รุ่น เพื่อให้ครูได้เกิดองค์ความรู้ในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้
“ในประเด็นเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มเสี่ยง เราพบว่าในชุมชนย่อยที่ 10 ที่มีอาชีพเก็บขยะและค้าของเก่า และถูกมองว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรม มีปัญหาทั้งสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกเพราะต้องหาเช้ากินค่ำ ส่งผลให้เด็กมีปัญหาติดเกม เที่ยวเตร่ ท้องก่อนวัย ยาเสพติด จึงมองว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ โดยนำครูสอนดีของจังหวัดทั้ง 150 คนมาออกแบบพัฒนาหลักสูตร จำนวน 12 หลักสูตร สร้างสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ จัดตารางกิจกรรมการสอน โดยทุกวันเสาร์จะมีครู 4 ท่านจะมาช่วยกันพัฒนาในสาระการเรียนรู้ที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยเด็กๆ เองก็ไม่เบื่อ มีความสนุกที่จะได้พบครูที่และกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ซ้ำกันในแต่สัปดาห์” ดร.วิวัฒน์กล่าว
โดย “หลักสูตรการเรียนรู้ทักษะชีวิต” ที่เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของ “ครูสอนดี” ทั้งจังหวัด ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และคณะกรรมการของชุมชนฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและสภาพปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย งานประดิษฐ์, งานช่าง, นาฏศิลป์และการแสดงพื้นบ้าน, ดนตรี, ทัศนศิลป์, ภาษาและการสื่อสาร, กฎหมายในชีวิตประจำวัน, การป้องกันสิ่งเสพติด, เกษตรเพื่อชีวิต, ไตรลักษณ์(ศีล สมาธิ ปัญญา), กีฬาและกรีฑา และ สุขภาพอนามัย
นายสามารถ สุนทรวงศ์ ประธานคณะกรรมการชุมชนย่อยที่ 10 ฯ เล่าว่า ครั้งแรกที่จะทำให้ชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบ ก็คิดว่าจะได้คุณภาพสักกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อผ่านไปปีกว่าๆ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำงานของชุมชนร่วมกับ “ครูสอนดี” สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน
“ถึงเด็กของเราบางทีอาจจะขาดเรียนไปบ้าง แต่ตัวครูเองมีความพยายามค่อนข้างสูง ไม่ได้ย่อท้อ โดยหลักสูตรที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากการนำเสนอของชุมชนว่าเด็กๆ ต้องการและชื่นชอบในเรื่องใด ซึ่งการทำงานตรงนี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในหลายๆ เรื่อง เกิดการสร้างกลุ่มออมทรัพย์สำหรับเด็กเพื่อเป็นทุนการศึกษาในอนาคต มีการสำรวจเด็กกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ในเรื่องของการศึกษา และหาหนทางให้เข้ากลับเข้าไปสู่ในระบบ และตัวของชุมชนเองก็มีเป้าหมายและความพยายามที่จะเห็นเด็กของเราสามารถเรียนจบปริญญาเอกให้ได้อย่างน้อย 1 คน” นายสามารถระบุ
ครูสายัณต์ อุตทอง ผู้สอนวิชาทัศนศิลป์ เล่าถึงแนวคิดในการทำงานกับเด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้ว่า เยาวชนเพียงคนเดียวหากเราไม่สนใจไม่ให้ความสำคัญ เมื่อโตขึ้นไปเขาก็อาจจะไปสร้างปัญหาให้กับคนอื่นๆ ในสังคมได้ ดังนั้นแม้จะสอนเด็กเพียงคนเดียวเราก็ต้องทำ และพยายามช่วยเหลือเขา
“จะบอกเด็กๆ เสมอว่าการศึกษาคือการพัฒนาคน ทำให้เราได้พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นจากเมื่อวาน และทุกครั้งที่สอนก็จะหวังอยู่อย่างเดียวว่า ให้เขาดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าวันเมื่อวาน ส่วนเทคนิคในการสอนเด็กกลุ่มนี้คือ ต้องสร้างความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นระหว่างตัวครูกับเด็กก่อน ให้เด็กเห็นหน้าเราปุ๊บเขามีความสุขรู้สึกอยากเรียน แล้วหลังจากนั้นเราก็จะทำงานกับเขาได้อย่างมีความสุข” ครูสายัณต์กล่าว
ครูพุดซา นุสติ ผู้สอนวิชาภาษาและการสื่อสาร เล่าว่าจะเน้นกระบวนการสอนโดยนำเอาเรื่องราวใกล้ๆ ตัวมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ โดยบูรณาการสอดแทรกในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมจะสอนให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และมีมารยาทในการฟัง
“เด็กๆ ทุกคนควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน เพราะการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของภาษา ถ้าเขาขาดโอกาสตรงนี้ เขาก็จะขาดโอกาสทุกอย่างในชีวิต” ครูพุดซากล่าว
ครูจันทนะ วิไลพัฒน์ และ ครูทิพวรรณ เพ็ชรแก้ว ผู้สอนวิชาการงานอาชีพและงานประดิษฐ์ช่วยกันเล่าถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ หลังจากมาสอนที่นี่ได้เกือบ 2 ปีว่า หลายๆ คนมีความตั้งใจ เมื่อได้มาเรียนแล้วยังชักชวนคนที่บ้านให้มาเรียนด้วย ซึ่งงานการอาชีพและงานประดิษฐ์ที่เลือกมาสอนนั้น จะดูจากสภาพความเหมาะสมของชุมชนเป็นหลัก เมื่อเรียนแล้วสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้
“เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกได้ว่าเด็กมีความสุขขึ้น สายตาบ่งบอกถึงความสุขที่ว่าได้มาเรียน แค่นี้เราก็ชื่นใจแล้ว ที่สำคัญพฤติกรรมของเขาเวลาที่อยู่กับเรา การพูดการจาก็รู้สึกว่าดีขึ้น” ครูจันทนะกล่าวเสริม
“2 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า เด็กๆ ในชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เด็กๆ รู้จักการเสียสละ การอดทน การให้อภัยมากขึ้น ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีและทำให้ปัญหาอื่นๆ ลดลง หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ก็เห็นความสำคัญ และพยายามระดมพลังกันเข้ามาช่วยเหลือ และเรา ก็จะนำองค์ความรู้จากพื้นที่ต้นแบบไปขยายผลต่อในจังหวัด ชุมชนไหนที่มีปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบทั้งเรื่องของภาษาและความเป็นอยู่ ก็จะชวนครูสอนดีของเราไปต่อยอดและช่วยกันพัฒนา เพราะเรามีครูสอนดีอยู่ทุกอำเภอ แต่การสานต่อตรงนี้ก็จะต้องให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกัน ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนของจันทบุรีให้มีทักษะชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ดร.วิวัฒน์สรุป.