กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
คนอุบลฯร่วมผลักดันทีวีดิจิตอลชุมชนดึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างต้นแบบ นักวิชาการ ย้ำ ทีวีชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องมาจากชุมชน
มูลนิธิสื่อสร้างสุขจัด “เวทีเตรียมความพร้อม ทีวีดิจิตอลชุมชน” ณ ห้องทับทิมสยาม 4 ชั้น 5 โรงแรมสุนีย์แกรนด์โฮเทลคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ วันที่ 30 เมษายน 2557 จากสนับสนุนของโครงการสะพานโดยการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บรรยายในหัวข้อ “ทีวีดิจิตอลชุมชนที่อยากเห็น” และร่วมรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายร่วมเสนอความเห็นในหัวข้อเดียวกัน คือ อาจารย์ธีระพล อันมัย อาจารย์หลักสูตรนิเทศศาสตร์ (การประชาสัมพันธ์) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี , นายนพพร พันธุ์เพ็ง นักสื่อสารมวลชน , นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี , นางสาวคำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง , นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเด็กเยาวชน , นางนภนรรณ ทองเรือง หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อีกทั้งยังมีเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 100 คน ร่วมระดมความคิดเห็นกันในช่วงบ่ายอีกด้วย
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ทีวีชุมชน จะเกิดขึ้นได้จริงในไม่ช้านี้ และถ้าอุบลราชธานี จะเป็นพื้นที่นำร่องทีวีดิจิติลชุมชน ก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ไปสู่ระบบดิจิตอลนั้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ใช้เวลานานกว่า 12 ปี ฉะนั้นที่ประเทศไทยก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้เริ่มทำการเปลี่ยนผ่านนี้ก่อนประเทศแถบเดียวกัน และเมื่อเป็นทีวีดิจิตอล ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ จากการมีทางเลือกในการรับชมข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น จะเพิ่มเป็น 48 ช่อง ซึ่งแบ่งออกเป็นช่องรายการสำหรับบริการทางธุรกิจ (24ช่อง) บริการทางสาธารณะ (12ช่อง) บริการชุมชน (12ช่อง) ตามพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
นายธีระพล อันมัย อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การจะทำทีวีดิจิตอลชุมชนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้นต้องอาศัย 5 องค์ประกอบ คือ 1.บุคลากร ต้องมีบุคลากรอยู่ประจำ เพื่อดำเนินการ และมีชาวบ้านที่มีอุดมการณ์ มีจิตอาสา ที่จะทำงานร่วมกัน 2.การบริหารจัดการ เน้นการดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เช่น การบริหารจัดการผังรายการ ร่วมผลิตรายการ บริจาคสมทบทุน 3. เนื้อหา เนื้อหาหลักที่ผู้ชมต้องการชม ปฎิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเป็นทีวีชุมชน กลุ่มเป้าหมายก็ต้องการชมเนื้อหาที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เรื่องราวภายในชุมชนที่เกิดขึ้นจริง เป็นหัวใจหลักในการดึงคนเข้ามาชมทีวีของเรา 4. ด้านเทคนิค คือ การผลิตรายการ การรายงานข่าว ภาษาที่ใช้ในการรายงาน คนที่จะมาร่วมทำทีวีชุมชนต้องมีความชำนาญในด้านเทคนิคการตัดต่อ ง่ายต่อการทำงาน 5.งบประมาณ เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ทีวีชุมชนจะอยู่ได้ต้องอาศัยเงิน จะหาทุนนี้จาก การบริจาคจากแฟนคลับ หน่วยงานรัฐ เอกชน มาร่วมสมทบทุน แต่อย่าให้มาครอบเนื้อหาที่ทำ
ทางด้านนายนพพร พันธุ์เพ็ง นักสื่อสารมวลชน ก็มีความคิดเห็นต่อทีวีชุมชนเช่นเดียวกับนายธีระพล อันมัย ว่าต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง 5 นี้ ที่สำคัญคอนเช็ปต้องแม่น ทีวีธุรกิจเห็นผู้ชมเป็นลูกค้าต้องทำตามความต้องการของเขา แต่ทีวีชุมชนเห็นประชาชนเป็นพลเมือง นำเสนอในสิ่งที่ประชาชนควรรู้ ต้องรู้ ต้องทำให้ชุมชน ประชาชน เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องรอภาครัฐฝ่ายเดียว มีอำนาจต่อรองทางสังคม อยากเห็นทีวีชุมชนเป็นห้องเรียนอากาศ ให้ชาวบ้านทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ การจะสร้างทีวีชุมชนขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง ถ้าหากขาดข้อหนึ่งข้อใดไปก็คงลำบาก
นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เสนอความเห็นว่า หัวใจหลักของทีวีชุมชนคือต้องคิดให้ชัดว่าเราจะใช้ประโยชน์อะไรจากทีวีช่องนี้ ทีวีช่องนี้จะทำหน้าที่อะไร แล้วร่วมกันสร้างให้เกิด เรื่องงบในการดำเนินการคิดว่าหาไม่ยากหากเราชัดเจนและทำให้เป็นรูปธรรม คนที่จะมาทำงานทีวีชุมชนต้องเป็นคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่จะมีไฟพลังในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะโลกอนาคตเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่าน ยุคของการแข่งขัน คนทั้ง2รุ่นนี้ จึงต้องทำงานร่วมกันให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทีวีชุมชนต้องเป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพชุมชน เชื่อมการเรียนรู้ทั้งในระดับชุมชนและระดับโลก
คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง สะท้อนว่าอยากเห็นทีวีชุมชน เป็นพื้นที่นำเสนอเรื่องราวในชุมชน วิถีชีวิต ประเพณีท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน สะท้อนปัญหา ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ อีกทั้งเป็นเวทีสาธารณะให้ชาวบ้านได้แสดงออก เสนอความคิดเห็น ให้เกิดการแก้ไข
อีกทั้งนายศุภชัย ไตรไทยธีระ ตัวแทนเด็กและเยาวชน กล่าวว่า อยากเห็นทีวีชุมชนเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กและเยาวชน เป็นพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้รับรู้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีเวทีในการแสดงออก ทำให้เกิดทักษะในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต เชื่อมั่นว่าทีวีชุมชนที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นพื้นให้เด็กและเยาวชนจริงๆ
นอกจากนี้ เครือข่ายที่เข้าร่วม “เวทีเตรียมความพร้อม ทีวีดิจิตอล ชุมชน” ในครั้งนี้ ต่างมีข้อเสนอและสะท้อนมุมมอง ความคิดเห็นที่หลากหลาย รูปแบบรายการของทีวีชุมชน เรื่องราวใกล้ตัวที่อยากนำเสนอ ให้เกิดขึ้นจริงผ่านทีวีดิจิตอลชุมชน ที่จะมีขึ้นในอนาคตอีกด้วย