กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาเก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้เยาวชนไทยตื่นตัวกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ และกล้าแสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์ ล่าสุดได้ขนชิ้นงานที่เป็นไฮไลท์ของนิทรรศการ “มองใหม่ ด้ายไหม” พร้อมกิจกรรมที่ท้าทายความคิด สะกิดต่อมอยากรู้ว่า “ไหม” จะใช้ทำอะไรได้มากกว่าการเป็นผ้า มาตั้งไว้ให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิด พิเศษเพียงวันเดียว ณ ดิจิตอล เกตเวย์ สยามสแควร์
นับว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้เยาวชน ผู้ปกครอง และนักท่องเที่ยว ได้เรียนรู้ไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด ในความเป็นอภิมหาวัสดุของไหม ที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่น่ามหัศจรรย์มาจัดแสดงมากมาย อาทิ
“กระดูกเทียม”จากแนวคิดที่ว่า ในอดีตเราใช้เส้น “ไหม” เย็บแผล ช่วยบรรเทาไม่ให้เกิดการอักเสบปัจจุบันการแพทย์ไทยจึงได้ทดลอง นำโปรตีน “ไฟโบรอิน” ในเส้นไหม มาขึ้นรูปเป็นกระดูกเทียมมีโครงสร้างแข็งแรง ร่างกายไม่ต่อต้าน อีกทั้งมีรูพรุนเอื้อให้เซลล์รอบข้างเจริญเติบโตและแทรกตัว เข้าไปในรูพรุนจนกลายเป็นกระดูกจริงในที่สุด
“แผ่นปิดแผลสด”ไม่ว่า แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแผลฉกรรจ์แค่ไหน โปรตีนไหมในแผ่นปิดแผลก็ช่วยเยียวยาได้ โดยจะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเซลล์ผิวหนังแท้ ขณะที่ช่องว่างระหว่างเส้นใยจะทำหน้าที่ซับเลือดและน้ำเหลือง และช่วยระบายอากาศ ทำให้แผลแห้งเร็ว หายไว ไม่ติดเชื้อ
“น้ำต้มรังไหม” จากอดีต..น้ำต้มรังไหมใครจะแล? มีแต่จะเททิ้งไป ปัจจุบันกลายเป็น "อภิวัสดุ" ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและวงการแพทย์ระดับโลกเพราะ ในน้ำต้มรังไหม มี โปรตีน “เซริซิน” ประกอบด้วยสุดยอดกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์ต่อ ร่างกาย ถึง ๑๘ ชนิด ป้องกันรังสียูวี ต่อต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว
“เครื่องสำอางผสมไหม”“โปรตีนไหม” มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโปรตีนในร่างกายมนุษย์ และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เครื่องสำอางที่ผสม “โปรตีนไหม” จึงปลอดภัย สะอาด ปราศจากเชื้อ ไม่เสี่ยงต่ออาการแพ้ ผดผื่น ให้คุณ “เป๊ะ” จากภายในตราบนานเท่านาน
“หมูยอไหม”เกิดจากการนำผงไหมใส่ในหมูยอ โดยสารเซริซินจากโปรตีนไหมจะช่วยเพิ่มรสสัมผัสในเนื้อสัตว์ให้ เด้งนุ่มแบบปลอดภัย ไม่ต้องใส่สารบอแรกซ์ พร้อมช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนแท้ๆ จากตัวเราเอง
“เสื้อเกราะไหม โดยคนไทย”ใครจะเชื่อว่าไหมแข็งแรงกว่าเหล็ก โดยใช้ทำเสื้อเกราะผ้าไหมกันกระสุน ฝีมือคนไทย และผ่านกระสุนจริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว จากการค้นคว้าวิจัยด้านวิศวกรรมสิ่งทอ และแรงบันดาลใจจากเสื้อเกราะมองโกล โดย รองศาสตราจารย์ สุจิระ ขอจิตต์เมตต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมที่ท้ายทายความสามารถวัยรุ่น ด้วยการทำโคมไฟผ้าไหมที่ไม่ได้ทอจากฝีมือมนุษย์ แต่ทอจากดักแด้ โดยมี Hoo DIY กูรูทางด้านงาน DIY มาช่วยสอน มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกันมากมาย รวมไปถึง พิมรา เจริญภักดี หรือ น้ำหวาน ซาซ่า ที่ผ่านมาแถวนั้นก็ขอร่วมเรียนด้วย
ในช่วงของการเสวนา “ย้อนมองไหม ก่อนคิดใหม่” อาจารย์สาธร ประสพสันติ ผู้ก่อตั้งสาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ พาทุกคนย้อนกลับไปชื่นชมกับภูมิปัญญาของคนไทย ในฝีมือการทอผ้า ที่มีการเลือกสีสันได้จับใจคนใส่มาทุกยุคทุกสมัย ต่อด้วยป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ของคนรุ่นไหม ที่ได้มีการทดลองและวิจัยเกี่ยวกับไหมหลายอย่าง ปิดท้ายด้วยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง ทิพพาพรรณ ผลวินิจ เจ้าของแบรนด์ Sugar Bunny ที่ประสบความสำเร็จจากการจำหน่าย “สบู่รังไหม” ในโลกออนไลน์
ในช่วงของการแนะนำ Opinion Leader ของนิทรรศการ “มองใหม่ ด้ายไหม” ที่มีไอเดียสุดเก๋ไก๋เกี่ยวกับการนำไหมมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน กับไอเดีย “ถุงชาใยไหม” คือนำกระดาษใยไหมมาทำเป็นถุงชา เวลาแช่ในน้ำร้อน โปรตีนต่างๆ ก็ละลายออกมา ได้คุณค่าทางอาหาร และรสชาติชาก็อร่อยด้วย เชฟบุ๊ค-บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต จากรายการ Foodwork ที่ขอบนำวัตถุดิบใหม่ๆ มาใช้ในรายการอาหารของตน ก็ได้ลองนำผงไหม และดักแด้ไหมมาใส่ในอาหารฝรั่ง และได้ค้นพบว่าวัตถุดิบเหล่านี้ทำให้อาหารอร่อยขึ้นได้ โจ้ เซอร์เฟซ (Surface) ดีไซเนอร์แถวหน้าของเมืองไทย ผู้ที่ทำให้ญาญ่าหญิงและชุดผ้าไหมไทยได้ไปสง่าอยู่บนพรมแดง ในเทศกาลหนังเมืองคานส์มาแล้ว ได้ฝากเยาวชนในรุ่นนี้ว่า อนาคตของไหมจะเกิดขึ้นได้ อยู่ที่เราช่วยกันบอกเล่าประวัตศาสตร์รวมถึงคุณสมบัติของไหมให้คนได้รู้จักสืบต่อไป
สนใจเข้าชมนิทรรศการ “มองใหม่ด้ายไหม” ได้ที่มิวเซียมสยาม จนวันที่ 29 มิถุนายน นี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย วันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 10.00 – 18.00 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 20.00 น. (ปิดวันจันทร์) และสามารถติดตามและเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับไหมต่อไปได้เร็วๆ นี้ ทาง www.facebook.com/museumsiamfan