กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวฯ จุฬาฯ ผนึกพลัง 4 หน่วยงาน ขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าไทย ระดมความคิดพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เตรียมผุดโครงการนำร่องในไทยดันศักยภาพการแข่งขัน
วิศวฯ จุฬาฯ สบช่องเนื่องในโอกาส “อรุณ สรเทศน์ รำลึก” ครั้งที่ 20 เชิญผู้บริหารองค์กรขับเคลื่อนแผนพัฒนา นโยบายพลังงานของเมืองไทย ร่วมโชว์วิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนานโยบายพลังงานชาติในอนาคต หลังร่วมมือกัน อย่างเต็มที่ในการพัฒนาแนวทางอย่างยั่งยืน เพื่อเติมเต็มและต่อยอดศักยภาพการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการพัฒนา ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเตรียมพร้อมเปิดตัวโครงการนำร่องในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานกรรมการ มูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ เปิดเผยในโอกาสการจัดงานสัมมนาวิชาการ โครงการ อาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ว่า วิศวฯ จุฬาฯ นอกจากจะมุ่งเน้นพัฒนาและยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษาแล้ว ยังมีปณิธานในการดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์องค์ความรู้ต่อภาคสาธารณะด้านวิศวกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิด วางแผนในการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่าน "โครงการ อาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์" โดยในเดือนพฤษภาคม นี้ ได้ร่วมกับ 4 หน่วยงานที่มีบทบาทขับเคลื่อนแผนด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระดมความคิดร่วมพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และเผยโฉมโครงการนำร่องในไทย
“ประเด็นปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานและสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ถือเป็นความท้าทายหลักในการหาคำตอบ สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าทั่วทุกภูมิภาคของโลกกำลังได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการรองรับและพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ในปริมาณและสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งจ่าย และการบริโภคพลังงาน ด้วยแนวคิดและเทคโนโลยี “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ Smart Grid ในประเทศไทย กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดทำและกำหนดนโยบายตลอดจนแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของไทยแล้วเสร็จ และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปัจจุบันได้จัดทำแผนที่นำทางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid Roadmap) สำหรับแต่ละองค์กรแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการเริ่มดำเนินการโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อศึกษาเรียนรู้ วิจัย พัฒนา และสาธิตร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้งานและขยายผลไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศต่อไป ในการจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ มูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมนำเสนอทิศทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและโครงการนำร่อง ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และถ่ายโอนความรู้สู่สังคม เตรียมความพร้อมในการประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม ประเทศ และรองรับความท้าทายแห่งอนาคต" ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองประธานกรรมการ มูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ กล่าว
ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย จำเป็นต้องทำการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยลง (Doing more with less) มีประสิทธิภาพ มีความเชื่อถือได้ มีความปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้โดยการผนวกความสามารถของเทคโนโลยีระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน ผ่านทางระบบตรวจวัด ระบบเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีการควบคุมระบบไฟฟ้าแบบสองทาง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นในทุกส่วนของระบบไฟฟ้าคือ ระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และผู้ใช้ไฟฟ้า กระบวนการพัฒนาเหล่านี้อาจเรียกรวมได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคของ “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ” หรือว่า Smart Grid นั่นเอง กระทรวงพลังงานได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แพงขึ้นเนื่องจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ปัญหาการยอมรับของประชาชน ต่อการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมถึงกระแสของโลกที่ต้องการการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กระทรวงพลังงาน จึงให้ความสำคัญในการจัดทำแผนนโยบายโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศเพื่อปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เป็นระบบที่มีความชาญฉลาดมากขึ้น และสามารถบรรเทาปัญหาดังที่ได้กล่าวมาได้
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ สายงานระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กฟผ. ได้จัดทำแผนที่นำทาง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เป็นแบบ Smart Grid รวมทั้งได้ศึกษาวิจัย การพัฒนาโครงการนำร่องแล้วเสร็จในปี 2556 ปัจจุบันได้ร่วมกับทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อออกแบบรายละเอียดเชิงเทคนิคและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนำร่องระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จภายในปี 2557 จากนั้นจะนำเสนอกระทรวงพลังงานสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนา โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งสามการไฟฟ้าและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป
นายรัตนโรจน์ ทวีสิน ผู้ช่วยผู้ว่าการวิชาการและบริหารพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า กฟน. มุ่งมั่นพัฒนาระบบไฟฟ้าและการให้บริการ ตามแนวทางของ Smart Grid เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี โดยได้ยึดหลัก “ระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม” เดินหน้าพัฒนาระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ตามแนวทางของ Smart Grid ให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ด้านการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้า กฟน. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพ การบริการผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความคาดหวัง ความพึงพอใจของผู้ใช้ไฟฟ้า และเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้า นอกเหนือจากภารกิจหลักในด้านการจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว กฟน. ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการอนุรักษ์พลังงาน กฟน. ได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) เป็นแห่งแรก ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่เพลินจิต ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการของ กฟน. ตลอดจนได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 10 สถานีที่สำนักงานเขตของการไฟฟ้านครหลวง
นายสุวัฒน์ เชี่ยวชาญชัย รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนดแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า Smart Grid เป็นยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 20 ปี ครอบคลุมทั้งในภาคการจัดหาไฟฟ้า ได้แก่ การรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก ระบบไมโครกริด และโรงไฟฟ้าชุมชน ภาคโครงข่ายระบบจำหน่าย เน้นที่การพัฒนา Smart Substation และ Feeder Automation ส่วนในภาคผู้ใช้ไฟ ได้แก่ การติดตั้งและใช้ประโยชน์จาก Smart Meter ระบบ Smart Home เทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบัน ได้ริเริ่มโครงการนำร่องที่เมืองพัทยา และการพัฒนาระบบไมโครกริดที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ไปแล้วระดับหนึ่ง การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและคุณภาพระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน อีกทั้งประโยชน์ต่อภาคประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ให้ได้รับบริการที่ดี สามารถตรวจสอบการใช้พลังงานและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพลังงานได้อีกด้วย