กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การอนามัยโลก (WHO)และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา(USAID) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Molecular techniques for detection of avian influenza and MERS-CoV” เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของห้องปฏิบัติการสาธารณสุข (public health) และห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์ (animal health) ให้มีความพร้อมในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“Molecular techniques for detection of avian influenza and MERS-CoV” ว่า ปัจจุบันมีเชื้ออุบัติใหม่หลายชนิดได้ระบาดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก โดยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ส่วนใหญ่ที่เกิดในมนุษย์ มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์หรือสัตว์ป่า เช่น ไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 สายพันธุ์ H7N9 และเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือที่เรียกว่า MERS-CoV ซึ่งเชื้ออุบัติใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อร้ายแรง ผู้ป่วยมีอัตราตายสูง ที่สำคัญยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ความรู้เกี่ยวกับตัวเชื้อ กลไกการระบาด และการก่อโรคก็มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องอาศัยระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง ซึ่งมีห้องปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุน เพื่อให้สามารถตรวจจับเชื้อทั้งในสัตว์และคนให้ได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการระบาดไม่ให้กระจายออกเป็นวงกว้าง
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้มีรายงานการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ MERS-CoV ใน 14 ประเทศทั่วโลก และมีสัญญาณที่อาจคุกคามเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากพบผู้ป่วยติดเชื้อ MERS-CoV แล้วในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับตัวอย่างเชื้อเทียมจากองค์การอนามัยโลก จึงทำให้สามารถตรวจยืนยันหาเชื้อได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะยังไม่มีการระบาดของเชื้อ MERS-CoV เข้าสู่ประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งทางกรมวิทย์ฯ พร้อมทั้งเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังเรื่องนี้ไว้แล้ว
ในส่วนของการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร ของห้องปฏิบัติการสาธารณสุขและห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจากกรมปศุสัตว์ โรงพยาบาลศูนย์ฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง รวมทั้งสิ้น 40 คน นอกจากจะเป็นการอบรมฟื้นฟูเทคนิคการตรวจวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานสากลแล้วยังเป็นโอกาสดีที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการด้านคนและสัตว์ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะที่โลกกำลังถูกภัยคุกคามจากเชื้ออุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว รวมถึงการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ด้าน นายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ให้ครอบคลุมถึงเชื้ออุบัติใหม่ต่างๆได้อย่างทันการณ์ เห็นได้จากการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ MERS-CoV จากกลุ่มผู้แสวงบุญในพิธีฮัจน์ที่เมกกะ รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม ปอดอักเสบรุนแรงทั่วประเทศ และได้ขยายการตรวจหาเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจตัวอื่นๆ อีก โดยมีหน่วยตรวจวินิจฉัยโรคกลาง (CDU) เป็นหน่วยงานใหม่ที่ให้บริการ จึงเห็นได้ว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี ทั้งการสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์เชื้อและยืนยันสายพันธุ์ของเชื้อ ติดตามการกลายพันธุ์และการดื้อยา ตลอดจนการเสนอข้อมูลและความรู้ในสถานการณ์การระบาดที่รวดเร็วและเป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกที่จะนำไปสนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรค รวมถึงการผลิตและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่ต่างๆ สร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้แก่ประชากรโลกต่อไป