กรุงเทพ--15 ต.ค.--ปตท.
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า บริษัท ชาริกาลี-ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรตติ้ง คอมปานี หรือ ซีพีโอซี (Carigali-PTTEPI Operating Company Sendirian Berhad หรือ CPOC) ประสบความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งในการเจาะและทดสอบหลุมสำรวจมะลิ -1 บริเวณโครงสร้างมะลิ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) แปลงบี -17 โดยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียได้ออกข่าวดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้
หลุมสำรวจมะลิ -1 (Mali -1) เริ่มดำเนินการขุดเจาะเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2540 และเจาะถึงระดับความลึกที่ 2,788 เมตร ผลการทดสอบอัตราการไหลช่วงความลึก 1,939.5 เมตร ถึง 2,028.5 เมตร พบอัตราการไหลของก๊าซธรรมชาติในอัตราวันละ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุต และคอนเดนเสทในอัตราวันละ 688 บาร์เรลนับเป็นความสำเร็จในการสำรวจพบแหล่งก๊าซแหล่งใหม่เพิ่มเติมทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ตอนกลางของแปลง บี 17
หลุมสำรวจมะลิ -1 อยู่ห่างจากหลุมตาปี -1 (Tapi-1) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 11.5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดสงขลาไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 250 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโคตาบารู (Kota Bharu) ประเทศมาเลเซีย ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 150 กิโลเมตร ขณะนี้ ซีพีโอซี กำลังย้ายแท่นขุดเจาะมารีน 500 (Marine 500) ไปเจาะหลุมประเมินผลเจงก้า -2 เพื่อประเมินศักยภาพของโครงสร้างเจงก้า ในแปลงบี 17 ต่อไป
นับตั้งแต่ดำเนินการสำรวจในแปลงบี-17เป็นต้นมาซีพีโอซีประสบผลสำเร็จพบก๊าซธรรมชาติในการเจาะและทดสอบหลุมในแปลงนี้รวมทั้งสิ้น 8 หลุมได้แก่ หลุมมูดา-1 มูดา-2 มูดา-3 และ มูดา-4 บริเวณโครงสร้างมูดา หลุมตาปี -1 บริเวณโครงสร้างตาปี หลุมแจงก้า -1 บริเวณโครงสร้างเจงก้า หลุมอมริต -1 บริเวณโครงสร้างอมริตและหลุมมะลิ -1 บริเวณโครงสร้างมะลิ
ซีพีโอซี เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. และบริษัท เปโตรนาส ชาริกาลี ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเครือของบริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย ซีพีโอจัดตั้งขึ้นเพื่อรับสิทธิจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลง บี-17 และ ซี-19 ของโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย บริเวณ อ่าวไทยตอนใต้ โดยแต่ละฝ่ายมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 50--จบ--