กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวการประกวด“รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่” (ASEAN Young Writers Award) เพื่อเป็นเวทีพัฒนาต่อยอดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน
งานแถลงข่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจาก นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ภายในงานยังมีวิทยากรคนดังจากแวดวงวรรณกรรมมาร่วมสนทนาและเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวรางวัลครั้งนี้อย่างคับคั่ง ประกอบด้วย ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ และประธานหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคุณวุฒิชาติ ชุ่มสนิท (บินหลา สันกาลาคีรี) นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2548
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานว่า
“การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ หรือ ASEAN Young Writers Award จัดขึ้นเพื่อร่วมฉลองในโอกาสครบรอบ 35 ปีของรางวัลซีไรต์ รวมทั้งแสดงความภาคภูมิใจและเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกเมืองหนังสือโลกและองค์การยูเนสโก ให้เป็นเมืองหนังสือโลกลำดับที่ 13 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
ช่วยกระตุ้น ส่งเสริมค่านิยมรักการอ่านและการเขียนของเยาวชน และคนไทย ตลอดจนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนมืออาชีพให้แก่เยาวชนในประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน”
ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กล่าวว่า “กิจกรรมในการประกวดครั้งนี้ กระบวนการประกวดจะดำเนินการตามแนวทางของรางวัลซีไรต์ เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง10 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมนักเขียนเยาวชนสัมพันธ์ และเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านเข้ารอบ 30 คน ได้พัฒนาทักษะฝีมือในการเขียนและสร้างแรงบันดาลใจโดยร่วมเข้าเวิร์คช็อปกับนักเขียนรางวัลซีไรต์ นอกจากผู้ชนะจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ พร้อมทั้งเงินรางวัลจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ชนะเลิศชาวไทยยังจะได้เดินทางไปทัศนศึกษา ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย”
ผศ. ดร.อภิลักษณ์ เปิดเผยแนวทางการทำงานต่อว่า หลังจากการประกาศผล ทางคณะกรรมการดำเนินการฯ จะรวบรวมผลงานเรื่องสั้นที่ชนะการประกวดมาจัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนวงกว้างทั้งในรูปแบบหนังสือที่แจกจ่ายไปตามห้องสมุดต่างๆ ในประเทศอาเซียน รวมทั้งในรูปแบบ E-Bookเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และพัฒนาทั้งทางด้านสังคมและวงการวรรณกรรมในภูมิภาค
รศ. สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ และประธานหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้แจงหลักเกณฑ์การประกวดว่า “วรรณกรรมที่ส่งเข้าประกวดจะเปิดกว้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการ (Fiction), เรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องจริง (Non- Fiction) และกวีนิพนธ์ (Poetry) ซึ่งจะหมุนเวียนกันทุกปี สำหรับกิจกรรมการประกวดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้เป็นการประกวดเรื่องสั้น ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาประจำชาติ ซึ่งการเขียนผลงานเป็นภาษาอังกฤษจะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรมได้ จึงอยากจะเชิญชวนให้เยาวชนไทย
ส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์รางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติ เหมือนเช่นที่รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลอันทรงเกียรติในภูมิภาคอาเซียน”