กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ. พร้อมรับมือเหตุแผ่นไหว เตรียมรถสื่อสารเคลื่อนที่เร็วไว้ใช้ในพื้นที่หากการสื่อสารขัดข้อง เตือนประชาชนรับมืออาฟเตอร์ช็อคจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมซักซ้อมการหลบภัย เตรียมถุงยังชีพฉุกเฉิน เพื่อไว้ใช้ในยามจำเป็น แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับบาดเจ็บ
ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ในพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย โดยจุดศูนย์กลางอยู่ลึกจากผิวดิน 10 กิโลเมตรซึ่งแรงสั่นสะเทือนได้แผ่ไปถึงหลายจังหวัดในภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน สร้างความเสียหายให้กับหลายพื้นที่ ซึ่งล่าสุดยังเกิดเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อคตามมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้สพฉ.ได้ประสานทีมกู้ชีพในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุอาฟเตอร์ช็อคที่จะเกิดขึ้นตาม ซึ่งสายด่วน 1669 พร้อมในการใช้งานแม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว นอกจากนี้ได้มีการเตรียมพร้อมรถสื่อสารเคลื่อนที่เร็วเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อกันทางโทรศัพท์ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของประชาชนเองก็ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเองด้วย โดยต่อจากนี้ทุกครัวเรือนจะต้องเตรียมถุงยังชีพฉุกเฉินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม นม และกล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมทั้งยาที่จะต้องใช้สำหรับคนที่เป็นโรคประจำตัว และเอกสารที่จำเป็นอาทิบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน อีกทั้งจะต้องมีการซักซ้อมสมาชิกในครอบครัวหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้วยเช่นสถานที่นัดพบ ต้องแนะนำกันให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนดูแลเด็กดูแลคนชรา
ทั้งนี้หากเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาและเรายังอยู่ในบ้านหรืออาคาร เราควรตั้งสติและให้หมอบลงกับพื้น และอยู่ให้ห่างจากหน้าต่าง กำแพง หรือบล็อกคอนกรีตและใช้หลักสามเหลี่ยมในการหาที่หลบภัยในอาคารเพื่อการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อคให้ได้ โดยหมอบใต้โต๊ะ หรือที่กำบังที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงหน้าต่างหรือผนังห้อง และหากท่านขับรถอยู่ให้จอดรถชิดขอบทาง อย่าออกจากรถจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย ซึ่งเมื่อเกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกรอบให้เปิดประตูอาคารหรือบ้านเรือนเตรียมไว้เพื่อให้มีทางออก โดยเฉพาะอาคารหรือบ้านเรือนที่สร้างด้วยคอนกรีต เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวประตูอาจเปิดไม่ออก ทำให้หนีออกไปข้างนอกไม่ได้ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์อย่างเด็ดขาด โดยเมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วควรเร่งตรวจสอบดูสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส อย่าเปิดใช้จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัย
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่าสำหรับผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บจากการถูกของแข็งตกกระทบ และอันตรายจากเศษแก้ว และเศษกระเบื้องที่แตกกระจาย ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยหากมีบาดแผลฉีกขาดจากการถูกของมีคมบาดให้รีบทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซปิดบาดแผลไว้ และควรสังเกตการเสียเลือดเพิ่มถ้าเลือดยังออกไม่หยุดให้ใช้ผ้ายืดพันพันทับอีกรอบ และในกรณีที่เกิดบาดแผลในบริเวณแขนหรือขาที่ไม่มีอาการกระดูกหักร่วมด้วยให้ยกส่วนนั้นขึ้นสูง ส่วนกรณีที่ได้รับของแข็งตกกระทบที่ศีรษะให้ทำการห้ามเลือดโดยวิธีปิดแผลโดยตรงถ้าเลือดออกมากให้ใช้ผ้ายืดพันรัดและควรสังเกตอาการทางสมองควบคู่ไปด้วยเช่น ซึม พูดคุยสับสน ระดับความรู้สึกตัวลดลง ปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่ง ส่วนแผลจากกระดูกหักกรณีที่ไม่มีบาดแผลเลือดออกให้ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ปวดเพื่อลดอาหารปวดบวมจากนั้นให้ดามกระดูกโดยยึดตรึงส่วนที่หักให้อยู่นิ่งมากที่สุด ส่วนกรณีกระดูกหักและมีแผลเปิดจนเห็นกระดูกโผล่ห้ามดันกระดูกกลับเข้าที่เด็ดขาดให้ทำการห้ามเลือดเท่านั้น และหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บรุนแรงให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลืองทางการแพทย์