กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ บริเวณอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด รวม 10 อำเภอ 16 ตำบล 63 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 23 ราย บ้านเรือนประชาชน ถนน โบราณสถาน และสถานที่ราชการได้รับความเสียหายจำนวนมาก พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการร่วมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ศอร.ปภ.ช.) ณ ปภ. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงกำชับให้ ศปภ.เขต 4 ศูนย์ฯ และ ปภ. จังหวัด 14 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เร่งตรวจสอบและสำรวจข้อมูลความเสียหาย เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รวมถึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ เครื่องจักรกล สนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. ส่งผลให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวมถึงเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 3.0 – 5.9 ริกเตอร์ ตามมาอีกกว่า 100 ครั้ง ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลความเสียหายล่าสุด (เวลา 12.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน และลำปาง รวม 10 อำเภอ 16 ตำบล 63 หมู่บ้าน ประกอบด้วย โรงพยาบาล 2 แห่ง โรงเรียน 2 แห่ง วัด 3 แห่ง ถนน 2 สาย ห้างสรรพสินค้า 1 แห่ง เสาไฟฟ้าล้มจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 23 ราย สำหรับบ้านเรือนที่เสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว สั่งกำชับ ปภ.ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน พร้อมรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ ซึ่งในเบื้องต้น ปภ. ได้จัดตั้งตั้งศูนย์อำนวยการร่วมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ศอร.ปภ.ช.) ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ชุดเคลื่อนที่เร็ว และเครื่องมือกู้ภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถกู้ภัย ลงพื้นที่สนับสนุน การปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบ สำรวจและประเมินความเสียหายในระดับพื้นที่ แยกรายตำบล อำเภอ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รวมถึงประสานกรมบัญชีกลางพิจารณาขยายวงเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวแล้ว สำหรับจังหวัดที่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) และวงเงินไม่เพียงพอ สามารถแจ้ง ปภ. เพื่อประสานกรมบัญชีกลางพิจารณาขยายวงเงินต่อไป ตลอดจนประสานหน่วยปฏิบัติการ ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 15 เชียงราย และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัด เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกลสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แจ้งเตือนและเตรียมพร้อมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงร่วมกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบความเสียหายและสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่อย่าตื่นตระหนก อย่าหลงเชื่อข่าวลือ และปฏิบัติตามคำแจ้งเตือนของหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด หากได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง