กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--Kasikorn Bank
สถานการณ์ตลาดแรงงานในปี 2557 ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานในปี 2557 มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.7-1.0) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2556 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจเพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยประมาณ 3.20 แสนคนต่อเดือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะยาว โครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและผลิตภาพแรงงานเป็นโจทย์สำคัญที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งวางแนวทางแก้ไข เพื่อเพิ่มแต้มต่อและรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่อาจเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2558
ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไร้แรงขับเคลื่อนเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน ทำให้ภาคธุรกิจในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรมจำต้องปรับลดกำลังการผลิต ลดชั่วโมงการทำงาน และชะลอการจ้างแรงงานใหม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญของตลาดแรงงานไทยในปี 2557 และเนื่องจากวันแรงงานแห่งชาติกำลังจะมาถึงในวันที่ 1 พ.ค. 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงทำการประเมินประเด็นสำคัญของตลาดแรงงานไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนัก และสามารถปรับกลยุทธ์รับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีต่อไป
ตลาดแรงงานไทยปี 2557: สัญญาณเศรษฐกิจซบเซาดึงอัตราการว่างงานขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 แม้ยังคงมีปัญหาขาดแคลนแรงงานพื้นฐาน ขณะที่ แรงงานปริญญาตรีมีแนวโน้มเตะฝุ่นเพิ่มขึ้น
ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานพื้นฐานเป็นจำนวนมากในแถบทุกสาขาการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรมและภาคก่อสร้าง อีกทั้งยังมีความต้องการแรงงานกึ่งทักษะกลุ่มอาชีวะศึกษาในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ทำให้ไม่อาจปฏิเสธว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลาดแรงงานไทยต้องประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานมาโดยตลอด ทั้งในส่วนของจำนวนแรงงานพื้นฐาน และแรงงานกึ่งทักษะที่มีความสามารถตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้แรงงานต่างด้าว และจ้างแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงกับลักษณะงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
§ สถานการณ์ในปี 2557 สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติมากขึ้นกว่าเดิม เพราะในขณะที่แรงงานขั้นพื้นฐานที่ยังคงเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่แรงงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีน่าจะหางานทำได้ยากขึ้น ซึ่งทำให้ภาวะการจ้างงานในภาพรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามบรรยากาศเศรษฐกิจและผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ทำให้ภาคเกษตรกรรม (ซึ่งเคยเป็นสาขาที่มีการจ้างงานสูงที่สุด) ไม่สามารถดูดซับแรงงานส่วนเกินได้มากนัก ทั้งนี้ สัญญาณอ่อนแอของตลาดแรงงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนับจากต้นปี 2557 สะท้อนจาก จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส 1/2557 ที่เพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44 แสนคนต่อเดือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 หรือประมาณ 75,700 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 2.69 แสนคนต่อเดือน) ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2557 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในช่วงเดียวกันปีก่อน
แนวโน้มตลาดแรงงานในปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 1.8 ในปีนี้ อาจกดดันให้ตลาดแรงงานในภาพรวมมีภาพที่ซบเซาลง ทั้งนี้ คาดว่า อัตราการว่างงานในปี 2557 อาจขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ในช่วงร้อยละ 0.7-1.0) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2556 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจปรับขึ้นมาที่ 3.20 แสนคน (กรอบคาดการณ์ 2.90-3.80 แสนคน) จากระดับ 2.82 แสนคนในปี 2556 โดยหากพิจารณารวมจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับที่น่าจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ (สะท้อนถึงภาวะการว่างงานแฝงที่น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น) ก็อาจทำให้อัตราการว่างงานรวมผู้ทำงานต่ำระดับขยับสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 1.5 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในปี 2556
ทั้งนี้ แม้อัตราการว่างงานของไทยในปี 2557 จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังเป็นระดับที่ต่ำมาก และบ่งชี้ถึงสภาพความตึงตัวของตลาดแรงงานไทยที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานพื้นฐานที่รองรับการทำงานประเภท 3 D ได้แก่ งานสกปรก (Dirty) งานยาก (Difficult) และงานอันตราย (Dangerous) รวมถึงงานที่ไม่ต้องการทักษะที่ซับซ้อนมากนักในภาคบริการ เช่น งานแม่บ้าน และงานบริกร เป็นต้น ขณะที่ แรงงานในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานปริญญาตรีในสาขามนุษย์ศาสตร์/สังคมศาสตร์ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด อาจเผชิญปัญหาที่ตรงกันข้าม คือ เผชิญความยากลำบากในการหางานทำ และอาจไม่สามารถต่อรองค่าตอบแทนได้มากนัก เนื่องจากมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากเมื่อเทียบกับตำแหน่งงาน
แนวโน้มตลาดแรงงานไทยในระยะยาว...การสร้างความสมดุล และการเพิ่มผลิตภาพ ยังเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข
แม้หลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตในช่วงหลายปีข้างหน้า แต่แรงงานก็ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย เพราะแรงงานที่มีคุณภาพ/ผลิตภาพ จะมีบทบาทช่วยสนับสนุนศักยภาพทางการแข่งขัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มแต้มต่อให้กับประเทศไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างให้ตลาดแรงงานไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเร่งวางแนวทางรับมือกับ 2 โจทย์ใหญ่ที่รออยู่ในระยะข้างหน้า
ปัญหาการขาดแคลนในตลาดแรงงาน
แม้ว่า ณ ขณะนี้ ภาวะความตึงตัวของตลาดแรงงานอาจผ่อนคลายลงบางส่วนตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่สำหรับในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยยังมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราการเกิดที่ลดต่ำประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่นิยมศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งเมื่อรวมกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวกลับประเทศที่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าเมื่อมีการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเศรษฐกิจไทยทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปีข้างหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในทุกสาขาการผลิต) ก็คงจะทำให้ภาวะความตึงตัวของตลาดแรงงานไทยกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะระดับล่างที่คงจะประสบภาวะตึงตัวในระดับรุนแรง และกลุ่มแรงงานกึ่งทักษะที่มีความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี รวมทั้งกลุ่มแรงงานทักษะสาขาวิชาชีพเฉพาะที่น่าจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ปัญหาผลิตภาพแรงงานที่ชะลอลง
แม้ผลิตภาพของแรงงานไทยจะอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานไทยกลับชะลอลงอย่างต่อเนื่องหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพตลาดแรงงานใกล้เคียงกัน โดยนอกจากจะเป็นผลมาจากความอ่อนด้อยด้านทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงาน อาทิ ภาษาต่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการทำงานแล้ว สภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ก็ส่งผลทำให้การพัฒนาทักษะแรงงาน/เทคโนโลยีในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรมไม่มีความต่อเนื่องภายใต้ข้อจำกัดทางด้านการเงินที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าวอาจส่งผลกดดันทางอ้อมให้แรงงานบางส่วนปรับตัว โดยอาจยอมทำงานที่ใช้ทักษะต่ำกว่าระดับความสามารถ หรือไม่ตรงกับคุณสมบัติของตน ซึ่งทำให้ผลิตภาพแรงงานของไทยในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อประกอบกับประเด็นค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ก็อาจส่งผลต่อการรักษาจุดยืนในการเป็นฐานการผลิต และการคงไว้ซึ่งระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
โดยสรุป แม้สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปี 2557 จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน รวมทั้งภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่กลายเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการดูดซับแรงงานของภาคเกษตรกรรม และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ว่างงานของไทยในปี 2557 อาจปรับเพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยที่ 3.20 แสนคน (กรอบคาดการณ์ 2.90-3.80 แสนคน) ส่งผลทำให้อัตราการว่างงานขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.7-1.0) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2556 อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเป็นระดับการว่างงานที่ต่ำมาก และสะท้อนว่า ยังคงมีภาวะการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานที่ยังคงมีความต้องการสูงในหลายๆ สาขาการผลิต
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ น่าจะคลี่คลายลงในช่วงที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งทำให้โจทย์ที่ท้าทายในระยะยาวของตลาดแรงงานไทย ยังคงเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (โดยเฉพาะแรงงานขั้นพื้นฐาน และแรงงานกึ่งทักษะ) ความไม่สมดุลของจำนวนแรงงานและความต้องการในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการชะลอตัวลงของผลิตภาพแรงงาน ประเด็นดังกล่าวอาจฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และบดบังจุดเด่นของแรงงานไทยที่มีความได้เปรียบด้านความคิดสร้างสรรค์ และมีความละเอียดประณีต เมื่อเทียบกับแรงงานเพื่อนบ้านในอาเซียน
ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง/ภาคธุรกิจ และตัวแทนภาคแรงงาน ควรร่วมมือกันวางแนวทางเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาครัฐที่อาจต้องเป็นแกนหลักในการวางแผนการพัฒนาแรงงานแบบบูรณาการ ด้วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ปฏิรูประบบการศึกษา และกำหนดแนวทางการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนนั้น อาจสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยทัศนคติเชิงบวก และให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาทักษะ/คุณลักษะที่จำเป็นต่อการปฎิบัติงาน ทั้งในส่วน On-the-job training และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม/สัมมนา/ดูงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยให้แรงงานสามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น