กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term rating) ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GMM ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term rating) ที่ ‘F2(tha)’
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจบันเทิงและสื่อ
GMM ดำเนินธุรกิจบันเทิงและสื่อแบบครบวงจรในประเทศไทย บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจเพลงภายในประเทศโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดขายในอุตสาหกรรม บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนต์รายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์รายหลักให้กับผู้ประกอบการฟรีทีวี โดยในปี 2556 บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์มากกว่า 30 รายการ ฟิทช์คาดว่าธุรกิจปัจจุบันของ GMM ซึ่งได้แก่ ธุรกิจเพลง ธุรกิจภาพยนต์ ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ และธุรกิจสร้างสรรและบริหารกิจกรรม (Event management) จะสามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง และจะช่วยสนับสนุนการลงทุนสำหรับธุรกิจใหม่ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจทีวีดิจิตอล และธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก
การเติบโตในธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ (Broadcasting)
ธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพน่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้กับ GMM ในระยะปานกลาง บริษัทจะเริ่มดำเนินการธุรกิจทีวีดิจิตอล ในช่วงกลางปี 2557 หลังจากบริษัทชนะการประมูลช่องทีวีดิจิตอลจำนวน 2 ช่อง ในเดือนธันวาคม 2556 และได้รับใบอนุญาตในเดือนเมษายน 2557 โดยในช่วงเริ่มต้นของการออกอากาศบริษัทจะทำการโอนย้ายรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่แพร่ภาพผ่านทีวีดาวเทียมไปยังระบบทีวีดิจิตอล ค่าโฆษณาในระบบทีวีดิจิตอลที่คาดว่าจะสูงกว่าระบบทีวีดาวเทียม เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้ชมได้มากกว่า น่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทขยายตัวในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมฟรีทีวี อาจทำให้การแข่งขันด้านราคาสูงกว่าที่คาดไว้
ความท้าทายของธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก
ฟิทช์เชื่อว่า GMM จะเผชิญความท้าทายในการดำเนินธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก บริษัทต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกและสร้างรายได้ให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อรายการโทรทัศน์ (Content acquisition cost) ซึ่งอยู่ในระดับสูง ฟิทช์คาดว่าธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกของ GMM จะขาดทุนอย่างน้อยในช่วง 2 ปีข้างหน้าจนกระทั่งธุรกิจมีจำนวนสมาชิกอยู่ในระดับที่สูงกว่าจุดคุ้มทุนที่ประมาณ 400,000 ราย (ณ สิ้นปี 2556 ธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกของ GMM มีสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 100,000 ราย)
อัตราส่วนกำไรลดลง
กำไรของธุรกิจใหม่ที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะกดดันอัตราส่วนกำไรของ GMM ในปี 2557 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2558 เมื่อรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิตอลและธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของธุรกิจดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แปรผันตามรายได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อกำไรของบริษัท
การลงทุนที่สูง
ฟิทช์คาดว่าค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่อยู่ในระดับสูงและค่าใช้จ่ายในการซื้อรายการทีวีของธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิก จะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ GMM ติดลบ และจำกัดความคล่องตัวทางการเงินของบริษัท อย่างน้อยในช่วง 2 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตามกำไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่หลังจากปี 2558 น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทปรับตัวดีขึ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน Funds Flow from Operation (FFO)- Adjusted Net Leverage ของ GMM น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 เท่าในปี 2558 และ 2559
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดจากธุรกิจทีวีดิจิตอลและธุรกิจทีวีบอกรับสมาชิกที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก (Positive free cash flow) และมีอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage ต่ำกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ
- กำไรและกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 4.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง