กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โดย แพทย์หญิง โสมสราญ วัฒนะโชติ
จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
หากเอ่ยถึง “โรคต้อหิน” หลายคนคงนึกถึงโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับดวงตาโดยตรง หรือเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนสูงอายุ คงไม่คิดว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นในวัยหนุ่มวัยสาวหรือแม้แต่เด็กได้เช่นกัน โรคต้อหินนี้เองเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยมีความพิการทางสายตาได้ด้วย ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคต้อหินที่หลายคนยังไม่รู้
แพทย์หญิง โสมสราญ วัฒนะโชติ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคตาซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้โดยเฉพาะในระยะแรก ๆ พอทราบตาก็ใกล้บอดแล้ว ที่อันตรายคือหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตาจะบอดในที่สุด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของระยะโรคในแต่ละบุคคล ต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการทำลายขั้วประสาทตา ซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง เมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา หากเป็นมาก ๆ ก็สูญเสียการมองเห็น โดยเป็นการสูญเสียชนิดถาวรไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมามองเห็นได้ อาการของโรคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ ต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อย มักไม่แสดงอาการ ต้องตรวจจึงจะทราบว่าเป็น ต้อหินชนิดมุมปิด หากเป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการตาแดง ปวดตา เป็นแบบเรื้อรัง ต้อหินโดยกำเนิด พบในเด็กแรกเกิดถึงเด็กเล็ก มักมีอาการ น้ำตาไหล ไม่สู้แสง ตาตำโต อาจเป็นฝ้าขาว ต้อหินในเด็กบางชนิด มีตาดำเล็กกว่าปกติ พบร่วมกับโรคอื่นของดวงตา และสุดท้าย ต้อหินทุติยภูมิ เกิดจากภาวะที่มีการอักเสบในดวงตาจากอุบัติเหตุ การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น ความเสี่ยงในการเกิดต้อหินของผู้ชายและผู้หญิงไม่มีความแตกต่างกัน หากมีประวัติครอบครัวเป็นต้อหินโดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติสายตรง เช่น บิดา มารดา พี่น้องท้องเดียวกัน หรือปู่ย่า ตายาย เป็นโรคต้อหิน จะทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 5-8 เท่า นอกจากนี้ยังมีเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้คุณหมอได้รวบรวมข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก ดังนี้
1. จริงหรือไม่ที่ “โรคต้อหิน” มีสาเหตุเกิดจากความดันลูกตาสูง
ต้อหินเป็นภาวะที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้น มีการเสื่อมของประสาทตาและสูญเสียการมองเห็น ซึ่งความดันในตาที่สูงจะกดดัน เส้นประสาทตา (optic nerve) ให้เสื่อม เมื่อความดันตาสูงเป็นเวลานานประสาทตาจะเสื่อมทำให้สูญเสียการมองเห็น โดยเริ่มที่ขอบนอกของลานสายตา ส่วนตรงกลางภาพยังเห็นชัด หากไม่ได้รับการรักษา การมองเห็นจะได้ภาพเล็กลง การเปลี่ยนแปลงจะค่อย ๆ เป็นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นทั้งสองข้างแต่อาจจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งก่อน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีความดันตาสูงจะเป็นต้อหิน พบว่าอาจมีคนไข้โรคต้อหินกว่าครึ่งที่ความดันตาไม่เคยสูง อย่างไรก็ตาม ความดันลูกตาที่สูงเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคต้อหิน และคนที่มีความดันลูกตาสูงกว่าจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่า
2. จริงหรือไม่ที่ โรคต้อหิน เป็นโรคของคนอายุมากเท่านั้น
ทั่วโลกมีคนเป็นต้อหินประมาณ 65 ล้านคน โดยร้อยละ 2 ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี ตรวจพบว่าความดันในลูกตาสูง และร้อยละ 8 ของประชากรที่มีอายุเกิน 70 ปี แต่ที่จริงแล้วโรคต้อหินสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ อาจเป็นตั้งแต่แรกเกิด หรือพบร่วมกับโรคตา หรือโรคทางกายอื่นๆ ก็ได้
3. คนไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต้อหิน
จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีโอกาสเป็นโรคต้อหินสูงกว่าชาวตะวันตก เช่น 1 ใน 6 ของประชากรที่อายุเกิน 50 ปี มีโอกาสเป็นต้อหินมุมปิด ซึ่งหากได้รับการตรวจวินิจฉัยได้ทันสามารถรักษาด้วยเลเซอร์ และป้องกันไม่ให้เป็นต้อหินได้อีก
4. โรคต้อหิน ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
ประวัติโรคต้อหินในครอบครัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะต้องเป็นต้อหินถ้าพ่อหรือแม่เป็นต้อหิน กระนั้นก็ตาม บุคคลที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหินควรรับการตรวจเช็คสุขภาพตาแต่เนิ่นๆ และสม่ำเสมอ เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าประชากรทั่วไป 5 - 6 เท่า อันที่จริงแล้วสำหรับโรคต้อหินนั้นเกิดขึ้นได้จากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ การเป็นโรคนี้แต่กำเนิด ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม แต่ที่พบเพราะสาเหตุของพันธุกรรมนั้นมีไม่มาก อีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นต้นตอสำคัญให้เกิดโรค คือการใช้ยาหยอดตาผิดประเภทที่จะเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยเหตุที่ทารก หรือเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด-14 ปี แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ช่วงอายุ 1-3 ขวบที่มีอาการภูมิแพ้ ซึ่งในบางอาการของภูมิแพ้นั้นมีผลเกี่ยวเนื่อง ให้เกิดอาการคันตาเกิดขึ้น ด้วยความหวังดีของผู้ปกครองก็นำลูกไปพบแพทย์ แต่ก็มีอีกบางรายเช่นกันที่ซื้อยาหยอดตาตามร้านขายยา ในท้องตลาดมาใช้เอง ด้วยเหตุที่บางร้านก็ไม่ได้มีเภสัชกรประจำร้าน ทำให้ผู้ขายเลือกยาหยอดตาที่มีราคาถูกแต่เน้นประสิทธิภาพในการรักษา แต่หารู้ไม่ว่ายาประเภทนี้เองมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีอันตราย และเป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต้อหินได้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของปานแดงตรงใบหน้าแล้วครอบคลุมบริเวณดวงตา ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อน และในรายของผู้ที่สายตาสั้นมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมุมเปิด ส่วนผู้ที่มีสายตายาวมากนั้นจะมีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินมุมปิดได้
5. ต้อหิน มักมีอาการปวดตา
ที่จริงแล้ว คนที่เป็นโรคต้อหินมักไม่มีอาการอะไรเลย จนกระทั่งประสาทตาถูกทำลายไปครึ่งหนึ่งจึงเริ่มมีอาการ ต้อหินส่วนใหญ่เป็นแบบเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งมาตรวจตากับแพทย์แล้วจึงพบว่าเป็นต้อหิน ที่ทำให้ปวดตามากร่วมกับตามัว ตาแดง คือ ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ซึ่งถ้าพบว่ามีการดังกล่าวรวมกันไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์ทันที
6. ต้อกระจก ถ้าทิ้งไว้ไม่รักษาจะกลายเป็นต้อหิน
คนที่เป็นต้อกระจกจะไม่กลายเป็นต้อหิน เว้นเสียแต่ว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหินร่วม อาจพบโรคต้อกระจก และต้อหินได้ร่วมกันเนื่องจากทั้งสองโรคเป็นมากในผู้สูงอายุ ต้อหินทุติยภูมิอาจเกิดจากต้อกระจกได้ เช่น ในคนที่ทิ้งต้อกระจกไว้นานจนแก้วตาบวมมาก หรือทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกขุ่นขาวก็อาจทำให้เกิดต้อหิน เป็นภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากต้อกระจก
7. ใช้คอมพิวเตอร์มากทำให้เป็นต้อหิน
ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากเพียงพอที่จะสนับสนุนคำพูดดังกล่าว แต่การที่มีสายตาสั้นมากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดต้อหินได้ กลุ่มคนที่ทำงานหนักอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีสายตาสั้นมากอยู่แล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งของการเป็นต้อหิน ส่วนอีกประการหนึ่งการที่สายตาสั้นแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อกันว่าผู้ที่ใช้สายตาเพ่งมองใกล้มาก พวกหนอนหนังสือ ผู้ที่มีไอคิวสูงมักจะมีสายตาสั้น ทั้งหมดจึงอาจเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้กันมานานแล้ว จึงควรระวังถึงโอกาสการเป็นต้อหินซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์โดยตรงที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดในปัจจุบัน ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้คอมพิวเตอร์ในระยะที่เหมาะสมแม้จะไม่ได้ป้องกันโรคต้อหินแต่ก็ทำให้ไม่มีภาวะสายตาเมื่อยล้า ตาแห้งจากการใช้คอมพิวเตอร์มากไป ซึ่งเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์คงหลีกเลี่ยงการใช้ไม่ได้ ในโลกของข้อมูลข่าวสารปัจจุบันควรใช้คอมพิวเตอร์ครั้งละ 2 ชั่วโมง พักสายตาไปทำงานอื่น 15 นาทีแล้วกลับมาทำใหม่ การจัดระบบของโต๊ะและจอคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมทำให้คุณสบายตา ไม่เมื่อยล้าและอาจจะชะลอมิให้คุณมีสายตาที่สั้นเพิ่มขึ้นลดปัจจัยเสี่ยงของการเป็นต้อหินก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรเพิกเฉยกับโรคนี้ ด้วยอุบัติการณ์ที่พบได้ 1-2% ในคนสูงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจึงควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อที่ว่าหากพบโรคนี้ในระยะแรก การรักษาในระยะแรกจะทำให้คุณมีโอกาสสูญเสียสายตาน้อยที่สุด และยิ่งถ้าคุณมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น เป็นโรคเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง มีโรคหลอดเลือด มีภาวะสายตาสั้น มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว คุณควรต้องเฝ้าระวังโดยการตรวจหาภาวะต้อหินอย่างสม่ำเสมอ คุณหมอโสมสราญฝากทิ้งท้าย
ปานฤทัย คงยิ้มละมัย (ปิงปอง) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70