กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--กรมควบคุมโรค
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ จังหวัดกำแพงเพชร ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดูแลสุขภาพเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกิจกรรมรณรงค์เพื่อการส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันตนเองของเกษตรกรในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ภายใต้คำขวัญ “อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” ปลอดภัยจริง จากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถ้าเกษตรกรรู้สึก อ่อนเพลีย ชา คลื่นไส้ ปวดศีรษะ คอแห้ง ตาพร่า หรือมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายหลังจากฉีดพ่น สามารถเข้ารับบริการได้ที่“คลินิกสุขภาพเกษตรกร” ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์สุขภาพชุมชนของโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน
ที่วัดจันทาราม ต.วังแขม อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายสุรพล วาณิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดูแลสุขภาพเกษตรกร และร่วมกันสนับสนุนการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพเกษตรกร จ.กำแพงเพชร โดยมี นพ.ดิเรก ขำแป้น ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 นครสวรรค์ นพ.วิวัฒ คำเพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร นายสุนทร รัตนากร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร และนายชัยวัฒน์ พันธุ์วิทยากูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังแขม ร่วมเป็นเกียรติในการลงนามครั้งนี้ด้วย
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แต่ละปีประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปริมาณมากและเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เมื่อปี 2555 พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีเพื่อใช้ในการเกษตรจากต่างประเทศมากกว่าหนึ่งแสนสามหมื่นสี่พันตัน (134,000 ตัน) และมีมูลค่าการนำเข้าประมาณสองหมื่นล้านบาท และปัจจุบันสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งในส่วนของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งอาชีพเกษตรกรมีความเสี่ยงที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หากไม่ดูแลและป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม จากสถิติการตรวจเลือดล่าสุดของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2555 จากการตรวจเลือดเกษตรกร จำนวน 152,846 คน พบเกษตรกรที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกายในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยในสัดส่วนที่สูงถึง 46,016 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้กรมควบคุมโรคได้จัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันตนเองของเกษตรกรในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ภายใต้คำขวัญ “อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” ปลอดภัยจริง จากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นการรณรงค์เพื่อป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพเกษตรกรเอง โดยใช้มาตรการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเอง 4 อย่าง ได้แก่ “อ่าน” คือ การอ่านฉลากทุกครั้งก่อนใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด “ใส่” คือ สวมใส่ชุดที่มิดชิดและใส่อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ถอด” ทำง่ายที่สุด คือ ถอดชุดและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ขณะฉีดพ่นหรือทำงาน แยกชักจากเสื้อผ้าอื่นๆ แล้วรีบอาบน้ำ ฟอกสบู่ เปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาดทันที และ “ทิ้ง” คือ อย่าทิ้งภาชนะรวมกับขยะอื่น อย่าทิ้งเศษสารเคมีที่เหลือลงในท่อระบายน้ำ ลำธาร ลำคลอง หนองบึงโดยเด็ดขาด ควรฝังภาชนะบรรจุสารเคมี ระยะห่างจากแหล่งน้ำ 50 เมตร หลุมลึกอย่างน้อย 1 เมตร ปักป้ายระบุจุดฝังให้เห็นชัดเจน เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถลดการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ มีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมพฤติกรรมที่ถูกต้องของเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี และสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสมและยั่งยืน
“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมควบคุมโรค และ จ.กำแพงเพชร ในการดูแลสุขภาพเกษตรกร จ.กำแพงเพชร ครั้งนี้กรมควบคุมโรคให้การสนับสนุนการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพเกษตรกร คือ สนับสนุนองค์ความรู้ คู่มือ แนวทาง ในการดำเนินการจัดบริการคลินิกสุขภาพเกษตรกร สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ต้นแบบ สำหรับการดำเนินงานคลินิกสุขภาพเกษตรกร และ มอบหมายสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 นครสวรรค์ เป็นพี่เลี้ยงในการวางแผนงาน และสนับสนุนติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่ ขณะที่ จ.กำแพงเพชรให้การสนับสนุนการสร้างต้นแบบการดูแลสุขภาพเกษตรกรของจังหวัด โดยการกำหนดและผลักดันนโยบายในการดูแลสุขภาพเกษตรกร โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานการดูแลสุขภาพเกษตรกรในจังหวัด และบูรณาการทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อการดูแลสุขภาพเกษตรกร อย่างไรก็ตามถ้าเกษตรกรรู้สึก อ่อนเพลีย ชา คลื่นไส้ ปวดศีรษะ คอแห้ง ตาพร่า หรือมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายหลังจากฉีดพ่น สามารถเข้ารับบริการได้ที่“คลินิกสุขภาพเกษตรกร” ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และศูนย์สุขภาพชุมชนของโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งขณะนี้ขยายพื้นที่ดำเนินการไปแล้วทั้ง 76 จังหวัด หากสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร 02 591 8172 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422” นพ.โสภณ กล่าวปิดท้าย