กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--แกรนท์ ธอนตัน
ผลสำรวจล่าสุด จากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) เผยทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจต่อภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กำลังปรับตัวสูงขึ้น แม้จะมีการชะลอตัวในการเติบโตของกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging economics) บางแห่ง ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังบอกถึงการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตลอดจนการลดลงของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหวังในการลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาวครั้งใหม่ ที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ รายงาน IBR แสดงให้เห็นว่า ทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 44 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 ในไตรมาส 4 ปีก่อน และถือว่าสูงที่สุดนับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา โดยความเชื่อมั่นดังกล่าว ยังได้สะท้อนออกมาให้เห็นในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกด้วย เช่น ร้อยละ 64 ในกลุ่มประเทศแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งสูงที่สุดนับแต่ปี 2547 หรือร้อยละ 37 ทั้งในยุโรปและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสูงที่สุดนับแต่ปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศในแถบลาตินอเมริกาเอง ก็มีการปรับตัวขึ้นจากร้อยละ 26 ในไตรมาสก่อนหน้าซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบสี่ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 43
อย่างไรก็ตาม ทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจไทยต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2557 ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ร้อยละ -10 ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ส่งผลมายาวนาน และการปรับลดลงของค่าจีดีพีที่ผ่านมา
นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลข้อมูลในรายงาน IBR ได้แสดงถึงความหวังในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังเริ่มกลับคืนมา ทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็ได้สะท้อนให้เห็นจากสถานการณ์ที่ดีขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งล่าสุดดัชนี S&P 500 ก็ได้สร้างสถิติตัวเลขปิดตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ยาวนาน แม้ว่าจะมีบางแห่งที่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรป ยูเครนและตลาดเกิดใหม่บางแห่ง แต่เราก็สามารถที่จะคิดเพื่อวางแผนในระยะยาวได้”
“อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาในประเทศไทยปีนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มตัวเลขจีดีพีขึ้นเป็นร้อยละ 4 เพื่อที่จะรักษาในเรื่องอัตราจ้างงานและเศรษฐกิจไว้ แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวอาจต้องใช้เวลายืดในการสร้างไปจนถึงปี 2558”
นอกจากนี้ รายงาน IBR ยังทำการสำรวจเพิ่มเติมเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน เกี่ยวกับทัศนคติด้านบวกต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ต้องเผชิญกับการก้าวสู่นโยบายการเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน (Single market and production base) ซึ่งจะช่วยให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยทางการตลาด อันได้แก่ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี พบว่า นโยบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนาม (74%) มาเลเซีย (44%) และฟิลิปปินส์ (42%) ในขณะที่ประเทศไทย (18%) และอินโดนีเซีย (9.8%) ถือได้ว่าเป็นสองประเทศที่มีการสนับสนุนเรื่องดังกล่าวน้อยที่สุดในภูมิภาค
นายเอียน ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในขณะที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะช่วยสร้างโอกาสและการเติบโตให้แก่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาค ประเทศไทยอาจต้องเสียโอกาสหากไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน”
“ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีทั่วโลกในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.6 เราเชื่อว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ลงตัวที่สุดในการลงทุนเพิ่ม สำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายตัว เราคาดว่าจะได้เห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2557 การวางแผนลงทุนเกี่ยวกับโรงงานและเครื่องจักรมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย แต่ว่าด้านการวิจัยและพัฒนายังคงไม่กระเตื้องและไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น” นายคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ “มันจะต้องเกิดการลงทุนมากขึ้น หากทัศนคติด้านบวกที่ถูกพบใหม่ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนไปสู่การเติบโตที่มีความหมาย”