กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนสถานะการเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในกลุ่มทิสโก้ การมีอำนาจในการบริหารงานและการได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอผ่านการถือหุ้น 99.99% ในธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี และแหล่งรายได้ที่มีการกระจายตัวด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากระดับสัดส่วนหนี้สินที่สูงเนื่องจากสินทรัพย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดโอกาสในการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มทิสโก้ได้ในอนาคต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนสามารถรักษาคุณภาพของสินเชื่อและมีผลประกอบการที่ดี ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับอิทธิพลจากอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยรายสำคัญ
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจะอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มจำนวน 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงการด้อยสิทธิเชิงโครงสร้างโดยสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้บริษัทจะด้อยกว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของธนาคารทิสโก้ รวมทั้งสะท้อนการพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้ และข้อจำกัดตามกฎหมายในการจ่ายเงินปันผลนั้นให้แก่บริษัทด้วย
ในปี 2551 บริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปได้รับการจัดตั้งให้เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนและเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มทิสโก้แทนธนาคารทิสโก้ โดยมี CDIB & Partners Investment Holding Pte. Ltd. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 10% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 ส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นโดยนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ณ สิ้นสุดปี 2556 กลุ่มทิสโก้มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.9% และเงินรับฝาก 2.6% คณะผู้บริหารได้อำนวยการให้บริษัทสามารถให้การสนับสนุนสถานะทางการแข่งขันของบริษัทย่อย โดยธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของกลุ่มสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ไว้ได้ด้วยการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับ 4 จาก 16 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 12% ณ สิ้นปี 2556 รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธนาคารทิสโก้คิดเป็น 86% ของรายได้ดอกเบี้ยรวมรายได้ค่าธรรมเนียม รายได้ส่วนที่เหลือมาจากบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด และ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด
สินเชื่อของกลุ่มบริษัทประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย (70% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (18%) สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (11%) และสินเชื่ออื่น (1%) ณ สิ้นปี 2556 สินเชื่อมีการเติบโต 18% จากปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 292.2 พันล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ 23% กลุ่มบริษัทมีระบบการบริหารความเสี่ยงแบบรวมกลุ่มและรวมศูนย์ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถรักษาคุณภาพของสินทรัพย์ไว้ได้ โดยสะท้อนจากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมซึ่งมีอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 1.25% ในปี 2555 เป็น 1.70% ในปี 2556 บริษัทยังคงดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ได้แก่ สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน สินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ทั้งนี้ บริษัทมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคิดเป็น 16% ของเงินกองทุนซึ่งรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 41%
บริษัทมีผลประกอบการที่ดี โดยมีกำไรสุทธิ 4.4 พันล้านบาทในปี 2556 เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1.7% ในปี 2554 เป็น 1.5% ในปี 2555 และ 1.3% ในปี 2556 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจาก 4.28% ในปี 2553 เป็น 2.45% ในปี 2556 โดยยังมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบ อย่างไรก็ตาม การควบคุมต้นทุนดำเนินงานสามารถช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่สูงได้
ทางด้านเงินกองทุน บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินที่สูงกว่าของธนาคารคู่แข่ง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นรวมต่อสินทรัพย์รวมลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 9.14% ในปี 2551 เป็น 6.33% ในปี 2555 อันเป็นผลจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วรวมทั้งจากการจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ในปี 2556 บริษัทได้เพิ่มทุนจำนวน 1.7 พันล้านบาทผ่านโครงการใบแสดงสิทธิเพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่สามารถเปลี่ยนมือได้ (TSR) ทำให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นรวมต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 6.46% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 กลุ่มบริษัทคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตโดยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB) ซึ่งช่วยให้การบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บริษัทมีฐานเงินกองทุนเพียงพอต่อการเติบโตของสินเชื่อในระยะกลาง ณ เดือนมิถุนายน 2556 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 8.82% และ 12.58% ตามลำดับ ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย