กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
นายธีระ แก้วประจันทร์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงสำคัญประจำรัชกาล ในวาระคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ แต่เดิมไม่มีพระราชพิธีเนื่องในโอกาสนี้เพียงแต่มีพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคในเดือน 6 จัดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และจัดสืบเนื่องต่อมาทุกรัชกาลจนปัจจุบัน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคขึ้น ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระองค์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” แทนพิธีต่างๆ ในวาระเปลี่ยนปีใหม่ (สงกรานต์) ของข้าราชการฝ่ายหน้าและฝ่ายใน พระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้จัดการพระราชกุศลตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 และเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอนันตสมาคม
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า วันฉัตรมงคล คือวันที่พระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์สมบัติ หรือวันบรมราชาภิเษกเนื่องจากยังไม่เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ แต่ที่จริงแล้วคือวันฉลองพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงสำคัญประจำรัชกาล นั่นเอง ขณะเดียวกัน พระราชพิธีฉัตรมงคลไม่ได้มีเพียงวันเดียวเท่านั้น ซึ่งในรัชกาลปัจจุบันตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม แต่การพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ส่วนในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงสำคัญประจำรัชกาล ก่อนจะถึงวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก โดยตั้งการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะที่พระราชพิธีวันสุดท้าย คือ พระราชพิธีคล้ายวันที่ทรงรับนพปฎปมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหามงกุฎในการบรมราชาภิเษก ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งกำหนดการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
“พระราชพิธีฉัตรมงคล ถือเป็นพิธีที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี จึงได้เก็บรวบรวมภาพต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีดังกล่าวไว้มากมาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติ อาทิ ภาพ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2520 เวลา 10.30 น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องมนัสการ ทรงรับศีลแล้ว พระสงฆ์ 20 รูป ถวายพระพรจบ ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ทรงประเคนปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชา ราชกกุธภัณฑ์พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียน สมโภช นพปฎลมหาเศวตฉัตร สิริราชกกุธภัณฑ์และเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีฉัตรมงคล นอกจากนี้ยังมี ภาพ คณะรัฐมนตรี รอรับเสด็จฯ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่5 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เป็นต้น ” นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กล่าว