กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้นำตลาดในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ – LH เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งในตลาดบ้านเดี่ยว โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง บริษัทฯ มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย ได้แก่ บ้านเดี่ยว, ทาวน์เฮ้าส์, อาคารชุดพักอาศัย, อพารต์เม้นท์ให้เช่า และห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้สถานะทางการตลาดของบริษัทฯ ในตลาดอาคารชุดพักอาศัยก็แข็งแกร่งเช่นกันด้วยอัตราการจองของแต่ละโครงการและยอดขาย Presales ที่เพิ่มสูงขึ้น
อุปสงค์ที่ชะลอตัว – อุปทานที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะลดลงในปี 2557 เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่อยู่อาศัยที่อาจจะลดลงจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความระมัดระวังในการเริ่มโครงการใหม่ โดยเฉพาะอาคารชุดพักอาศัยซึ่งมีความอ่อนไหวต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าชื่อเสียงที่แข็งแกร่งของบริษัท, ความหลายหลายของโครงการ และยอดจองสะสมที่มีอยู่ จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากสภาวะตลาดที่อ่อนตัวลงและช่วยรักษาระดับยอดขายของบริษัทฯ ในปีนี้ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน
อัตรส่วนกำไรที่แข็งแกร่ง – บริษัทฯ สามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ในระดับสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม เป็นผลมาจากความสามารถในการปรับขึ้นราคาขายและค่าโสหุ้ย (overhead costs) ที่ต่ำของบริษัท อัตราส่วนกำไรขั้นต้นและอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 38.3 และร้อยละ 25.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทฯ น่าจะลดลงในปี 2557 สะท้อนถึงอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง
สินทรัพย์เพื่อการลงทุนช่วยเสริมสภาพคล่อง – LH มีสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแรงโดยได้รับการสนับสนุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนซึ่งสามารถขายให้กับกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยบริษัทฯ มีมูลค่าตลาดรวมของเงินลงทุนในบริษัทร่วมซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นปี 2556 อยู่ 34,110 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าของหลักทรัพย์เหล่านี้ขึ้นอยู่สภาวะตลาด
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่สูง – อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อสินค้าคงเหลือที่ปรับปรุงแล้ว (net debt/adjusted inventory) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 52 ในปี 2556 จากร้อยละ 48 ในปี 2555 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อสินค้าคงเหลือที่ปรับปรุงแล้วจะยังคงสูงอยู่ที่ระดับร้อยละ 53 – 54 ในปี 2557 – 2558 อันเป็นผลมาจากก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยและบ้านเดี่ยวที่ยังไม่แล้วเสร็จ การซื้อที่ดิน เงินลงทุนสำหรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และการจ่ายเงินปันผลที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การขายสินทรัพย์จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ สำหรับการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคต
กระแสเงินสดที่ผันผวน – อันดับเครดิตของ LH ถูกจำกัดจากลักษณะความเป็นวัฎจักรของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานมีความผันผวนสูง รวมถึงมีความไม่แน่นอนของรายได้และกระแสเงินสดในอนาคต
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ของบริษัทฯ สูงกว่าร้อยละ 25 (ณ สิ้นปี 2556: 26%) อย่างต่อเนื่อง
- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อสินค้าคงเหลือที่ปรับปรุงแล้วลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 45 (ณ สิ้นปี 2556: 52%) หรืออัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted net debt to EBITDAR) ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า (ณ สิ้นปี 2556: 5.2 เท่า) อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการปรับเพิ่มของอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า เนื่องจากฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ของบริษัทฯ ลดต่ำลงกว่าร้อยละ 15 อย่างต่อเนื่อง
- ผลประกอบการที่อ่อนแอกว่าที่คาดซึ่งทำให้อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สิน ต่อดอกเบี้ยจ่ายลดต่ำลงกว่า 3.0 เท่า (ณ สิ้นปี 2556: 5.2 เท่า) อย่างต่อเนื่อง
- ระดับหนี้สินที่สูงกว่าคาดจากการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม รวมถึงการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูง