กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรม (อก.) เปิดตัวดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม Industrial Economic Indicator : IEI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย สามารถสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของสภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งภาคการผลิต การลงทุน และความเชื่อมั่น
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกที่ได้นำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำเครื่องมือชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมตัวใหม่ หรือที่เรียกว่า “ดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economic Indicator) หรือ IEI” โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งจะเป็นดัชนีที่สามารถสะท้อนภาพภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระดับประเทศเพื่อให้ผู้สนใจ หน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจ นักลงทุน สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของสภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยจะครอบคลุมมิติต่างๆ
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนี้ ดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คือ ดัชนีที่แสดงสถานะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบองค์รวม เพื่อการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการวางแผนและนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ที่ได้มีการนำเอาข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้ร่วมกัน เพื่อจัดทำดัชนีตัวนี้ขึ้นมา ซึ่งทำให้เราเห็นภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยได้ง่ายขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น โดยการพิจารณาข้อมูลในหลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กันและไม่ละทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง อันจะครอบคลุมมิติต่างๆ 3 มิติ คือ ด้านการผลิต การลงทุน และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีความมั่นใจว่าดัชนี ตัวนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ซึ่งดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมีโครงสร้างดังต่อไปนี้ มิติด้านการผลิต ประกอบด้วยดัชนี 2 ดัชนี คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยแหล่งที่มาของ
ข้อมูลทั้งสองตัวนี้มาจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม มิติด้านการลงทุน ประกอบด้วยดัชนี 4 ดัชนี คือ ดัชนีจำนวนการประกอบกิจการโรงงานที่ขอเปิดกิจการ ดัชนีจำนวนเงินทุน ดัชนีจำนวนแรงม้า และดัชนีจำนวนการจ้างงาน ของสถานประกอบกิจการที่ขออนุญาตเปิดดำเนินการ ซึ่งแสดงถึงการลงทุนในการขยายการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยดัชนีทั้งสี่ตัวนี้เป็นข้อมูลที่ได้จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งแสดงถึงการลงทุนในการขยายการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
มิติด้านความเชื่อมั่น ประกอบด้วยดัชนี 5 ดัชนี คือ ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรม ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดัชนีจำนวนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ดัชนีจำนวนโครงการ ดัชนีเงินลงทุนและดัชนีการจ้างงานของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จาก BOI ซึ่งดัชนีทั้งหมดนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งดัชนีทั้งหมดนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม จากนั้นก็นำดัชนีทั้งสามด้าน มาทำเป็นดัชนีภาพรวม หรือ Diffusion Index เพื่อมาวิเคราะห์ร่วมกันสร้างดัชนีภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่แสดงถึงสภาวะอุตสาหกรรมได้ครอบคลุมทุกด้าน นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของดัชนีแต่ละตัวซึ่งจะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในมิติต่างๆ ได้อย่างครอบคลุม เจาะลึก รวมถึงบทวิเคราะห์ที่รายงานถึงทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมใน 3-4 เดือนข้างหน้าด้วย
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า ในนามหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าดัชนีที่สร้างขึ้นใหม่นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม คือ ทุกภาคส่วนสามารถรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้อย่างครบด้านมีความแม่นยำ ครอบคลุมทุกมิติของสถานการณ์อุตสาหกรรม ซึ่งช่วยภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดใหญ่อย่าง AEC โดยทั้งนี้ดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะนำออกเผยแพร่ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจได้นำดัชนีไปใช้ประโยชน์ต่อไป