กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัท ตลอดจนการมีธุรกิจที่หลากหลายพร้อมตราสินค้าที่มีชื่อเสียงและการกระจายสินค้าที่ครอบคลุม รวมถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทกับพันธมิตรธุรกิจและกลุ่มลูกค้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงยอดขายที่แข็งแกร่งของบริษัทที่เติบโตจากทุกสายผลิตภัณฑ์และโอกาสการเติบโตในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง รวมถึงความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการก่อหนี้เพื่อการขยายกิจการ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” แสดงถึงความคาดหมายของ
ทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความแข็งแกร่งในการแข่งขันในสายธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับอัตราการทำกำไรและเพิ่มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้ต่อไป ทั้งนี้ หากบริษัทจะลงทุนหรือขยายธุรกิจใดใดในอนาคตก็ควรรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับปานกลางและรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอ
บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีประวัติการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อ บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดย ณ เดือนมีนาคม 2557 กลุ่มบริษัททีซีซีมีสัดส่วนการถือหุ้น 73.8% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มบริษัททีซีซีเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท โดยมี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่สำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ดำเนินการผลิตและให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภทซึ่งรวมถึงสินค้าของบริษัทเองด้วย ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทขวดแก้วและกระป๋องอลูมิเนียม 2) กลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งทำการผลิตทำการตลาด และจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค 3) กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพและด้านเทคนิค ซึ่งเน้นสินค้าด้านเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าทางเทคนิค 4) ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยร้านหนังสือเอเซีย บุ๊คส ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจค้าปลีก ปัจจุบันบริษัทได้ขยายกิจการไปยังธุรกิจค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศไทยบริษัทได้เปิดร้าน “Ogenki” ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกสินค้าเพื่อสุขภาพและดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ บริษัทยังมีร้านสะดวกซื้อ “B’s mart” ในประเทศเวียดนามซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2556 ซึ่งขณะนี้มี 83 สาขาแล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมลงทุนเพื่อบริหารร้านสะดวกซื้อ “M-point mart” ในประเทศลาวด้วย บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเป็นเครื่องข่ายร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ทั้งในประเทศเวียดนามและลาว
ในปี 2556 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 42,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2555 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตภายในของบริษัทและจากการรวมรายได้ธุรกิจกระจายสินค้าในเวียดนามที่เพิ่งซื้อกิจการเข้ามาในปีก่อน โดยกลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์เป็นสายธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทสูงสุดคิดเป็น 42% ของยอดขายรวม อีก 35% มาจากรายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค และ 17% เป็นรายได้จากกลุ่มเวชภัณฑ์รวมกับกลุ่มสินค้าเทคนิค นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัทด้วย โดย 65% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากกลุ่มธุรกิจนี้
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจและแหล่งรายได้ โดยความหลากหลายของธุรกิจช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจซบเซาได้ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำภายในประเทศในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค ธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องของบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ของยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากตราสินค้าชั้นนำต่างๆ ด้วย เช่น เซลล็อกซ์ ซิลค์ เทสโต โดโซะ นกแก้ว และเครือข่ายการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ เครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางจะช่วยสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการให้บริการจัดจำหน่ายของบริษัทให้เข้าถึงผู้บริโภคปลายทางทั่วภูมิภาคอินโดจีนได้ด้วย
ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของยอดขาย ตลอดจนกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น และระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ แต่ก็ถูกลดทอนด้วยระดับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายของบริษัทเติบโตในอัตราตัวเลข 2 หลักในช่วง 4 ปีที่ผ่าน ตลาดต่างประเทศทวีความสำคัญมากขึ้นโดยสร้างรายได้คิดเป็นประมาณ 20% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2556 โดยเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2555 รายได้จากต่างประเทศช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและเกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4,613 ล้านบาทในปี 2556 เปรียบเทียบกับระดับประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปีในปี2554 และ 2555 บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากการมีความหลากหลายทางธุรกิจและการมีเครือข่ายจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอถึงแม้ว่าจะอ่อนตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่าน
โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาอยู่ที่ 10 เท่าจาก 14.1 เท่าในปี 2554อัตราส่วนกำไร (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) ของบริษัทผันผวนอยู่ในช่วงแคบๆ เนื่องจากมีความหลากหลายทางธุรกิจ โดยอยู่ในช่วง 12%-12.5% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับอัตรากำไรของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นจาก 19% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 21% ในปี 2556 อันเป็นผลจากอัตราการใช้ประโยชน์ที่สูงขึ้นในโรงงานผลิตกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องใช้ส่วนตัวและเครื่องสำอางได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่อ่อนตัว ลักษณะของกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภคจะมีอัตรากำไรที่ไม่มากซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 10% แต่อัตรากำไรในปี 2556 ลดลงไปอยู่ที่ 7% อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งจากการขาดทุนในธุรกิจโยเกิร์ตและนมเปรี้ยว และจากอุปสงค์ที่ชะลอตัว ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อจะยังคงมีผลกดดันอัตรากำไรของบริษัทต่อไป
สถานะด้านภาระหนี้สินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง เงินกู้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านเนื่องจากการขยายกำลังการผลิตและเครือข่ายการจัดหน่าย อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 48.5% ในปี 2556 จากระดับ 44% ในปี 2554 และ2555 เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโต บริษัทวางแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2559 โดยรวมที่ 12,000 ล้านบาทเพื่อใช้ขยายกำลังการผลิตขวดแก้ว รวมถึงขยายความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และขยายธุรกิจค้าปลีก ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่จะใช้สนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ ได้ในระดับหนึ่งในวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท หากบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่กว่านั้นก็อาจกระทบต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทได้
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BJC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
BJC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable