กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
กรมทรัพย์สินทางปัญญาติดเครื่องก้าวสู่ปีที่ 22 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2557 ชูแนวทาง Dynamic DIP เคลื่อนไปข้างหน้า มีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดยั้ง ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ รวมถึงหน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศและสถานทูต เดินหน้าพัฒนาการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ติดเครื่องการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โชว์ผลการปราบปราม 7 เดือน ตุลาคม 2556 - เมษายน 2557 หน่วยจรยุทธ์จับกุมได้ 220 คดี ผู้ต้องหา 191 คน ของกลาง 100,397 ชิ้น
นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่าเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 22 แห่งการสถาปนากรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาก้าวสู่การเป็น DYNAMIC DIP ด้วยการทำงานที่รอบด้าน มีพลวัต มีการเคลื่อนไปข้างหน้า และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆนอกเหนือจากภายในกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นก้าวที่สำคัญในการพลิกโฉมการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการยกระดับการให้บริการ การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เน้นการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน
“ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญามีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆทั้งในระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ เช่น ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภาคเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์และทีวีคอนเทนท์ในการเปิดตัว “โครงการรณรงค์ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิตอล – โหลดเล่นๆก็เป็นเป็นเรื่อง” รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา ณ สถาบันการศึกษาเพื่อให้นิสิต นักศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การจัดตั้งคณะทำงานเชื่อมโยงฐานข้อมูลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อหาแนวทางการปรับปรุงฐานข้อมูลการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 – วันที่ 23 เมษายน 2557 มีการปราบปรามการตรวจจับสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยสามารถจับกุมได้ 220 คดี ผู้ต้องหา 191 คน ของกลาง 100,397 ชิ้น” นางกุลณีกล่าว
นางกุลณีกล่าวต่อไปว่า “นอกจากนี้กรม ฯ ได้เดินหน้าให้การสนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาให้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยใช้ฐานข้อมูลสิทธิบัตร และประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการคุ้มครอง ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยมุ่งเน้นให้ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ นำรายได้เข้าประเทศ รวมถึงสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นและชุมชน”
“ในด้านต่างประเทศกรม ฯ มีการพัฒนาความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาในกรอบอาเซียนเพื่อรองรับการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเข้าเป็นภาคีพิธีสารความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เช่น พิธีสารมาดริดด้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ความตกลงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบระหว่างประเทศ การเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กรอบเจรจาเขตการค้าเสรีไทย และสหภาพยุโรป การเป็นแม่งานใหญ่ในการจัดประกวด ASEAN Animation Contest 2014 ตามข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งอาเซียน ซึ่งจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสรรค์ Animation และนำเสนอผลงานด้าน Animation เพื่อผลิตผลงาน Animation สำหรับใช้ในโครงการรณรงค์ด้านลิขสิทธิ์ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป นอกจากนี้กรมฯ จะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่างๆทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เพื่อนำระบบที่ดีมาปรับใช้กับกรม ฯ รวมถึงร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพื่อร่วมมือกันวางรากฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีขึ้น อันจะเป็นช่องทางในการช่วยให้ผู้ประกอบการของเราสามารถส่งออก และเข้าไปลงทุนได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางกุลณีกล่าว