กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--เอสเอ็มอีแบงก์
เอสเอ็มอีแบงก์ ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ บสย. รวม 21 หน่วยงาน บูรณาการความร่วมมือด้านเงินทุน การบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ และการช่วยเหลือด้านการตลาดและสังคม เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ไปในทิศทางเดียวกัน ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อช่วยให้ SMEs เดินหน้าฝ่าวิกฤติและสามารถเติบโตได้แบบยั่งยืน
ในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2557) ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ และการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบาย และนางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ลงนามร่วมกับหน่วยงานและสถาบันอิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 3. กรมโรงงานอุตสาหกรรม 4. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 6. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 7. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 8. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 9. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10. สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 11. สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย 12. สถาบันยานยนต์ 13. สถาบันพลาสติก 14. สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 15. สถาบันไทย-เยอรมัน 16. สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 17. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 18. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 19. สถาบันอาหาร 20. สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยมี 21. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง เข้าร่วมผนึกกำลังช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในครั้งนี้ด้วย
ความร่วมมือในการลงนามประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการครั้งสำคัญของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยจะมีความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายให้เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือด้านการเงิน และมิติของการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดของกิจการ
นอกจากนี้ บสย. จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการค้ำประกันสินเชื่อ โดยองคาพยพทุกหน่วยงานจะช่วยเหลือผู้ประกอบการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านการเงิน การบริหารจัดการ ข้อมูลด้านวิชาการ การพัฒนาผู้ประกอบการ และด้านการตลาดและสังคม โดยอยู่ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้ ในภาคเช้ามีพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว และภาคบ่ายมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมสมอง ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังความร่วมมือ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานของหน่วยงานร่วมกัน และประสานความร่วมมือข้อมูลพื้นฐาน (Data Base) ด้านสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan : PIL) ระยะที่ 2 รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทันสถานการณ์ และนอกจากนี้ยังมีการสำรวจความคิดเห็นความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ต่อธุรกิจที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายให้ความช่วยเหลือต่อไป