กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--โฟร์ฮันเดรท
ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย ประกาศผลประกอบไตรมาส 1 ปี 57 มีรายได้จากการขาย 383.89 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.13 ล้านบาท
ผู้บริหาร TRT ย้ำปีนี้ยังสดใส คาด Q2-Q4 กำไรพุ่ง พร้อมกวาดรายได้โตมากกว่า 25 % หลังตุน Backlog ในมือแล้วมากกว่า 2,000 ล้านบาท ด้าน “สัมพันธ์ วงษ์ปาน” สั่งโหมลุย Bids ทั้งภาครัฐ เอกชน และส่งออกรวมกว่า 8,050 ล้านบาท แย้มอาจจะได้ 20-25 % พร้อมเตรียมทยอยรับรู้รายได้
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อย มีผลกำไรสุทธิเท่ากับ 2.13 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 383.89 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 16.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.20 เนื่องจากการล่าช้าในการดำเนินโครงการของลูกค้าทำให้ต้องเลื่อนการรับมอบสินค้า ซึ่งเป็นกรณีปกติของโครงการขนาดใหญ่
และบริษัทมีรายได้จากการบริการ 31.93 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 20.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.55 เนื่องจากรายได้จากการซ่อมหม้อแปลงขนาดใหญ่ลดลง และมีกำไรขั้นต้นจากการขายร้อยละ 24.28 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับร้อยละ 24.40 นอกจากนี้บริษัทยังมีกำไรขั้นต้นจากการบริการร้อยละ 41.06 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับร้อยละ 59.31 เนื่องจากงานที่ส่งมอบเป็นการบริการทั่วไป ซึ่งมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยตามตลาด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการขาย 27.91 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 0.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.13 และค่าใช้จ่ายในการบริหาร 67.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.57 เป็นไปตามการดำเนินการปกติ และมี ต้นทุนทางการเงิน 10.93 ล้านบาท ลดลง 0.35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.10
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้รายได้บริษัทฯ ที่ลดลงมีปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้โครงการของลูกค้าต้องเลื่อนการรับมอบสินค้า ซึ่งเป็นกรณีปกติของโครงการขนาดใหญ่ แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป บริษัทจะมีผลกำไรเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทฯ อย่างแน่นอน และปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) แล้วมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาทอีกด้วย
“และขณะนี้บริษัทฯ มีการเข้าร่วมประมูลอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ากว่า 8,050 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง 2,300 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 100 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,950 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 1,000 ล้านบาท และงานประมูลของบริษัทย่อยอีก 700 ล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25% ซึ่งคาดว่าในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมจะมีข่าวดีโดยบริษัทฯ ได้รับงานใหญ่อีกด้วย และขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น บริษัทฯยังคงรักษาระดับให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20-25 % ควบคู่กับการรักษาสัดส่วนตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการในด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพื่อรักษาอัตราเติบโตของบริษัทฯ นายสัมพันธ์ กล่าวสรุปในตอนท้าย