โพลล์สำรวจพฤติกรรมการทำบุญตักบาตรวันวิสาขบูชา

ข่าวทั่วไป Monday May 12, 2014 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมการทำบุญตักบาตรวันวิสาขบูชา สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ทำการสำรวจกลุ่มเยาวชนไทย ในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 15-25 ปี โดยวิธีการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ในระหว่างวันที่ 3-8 พฤษภาคม 2557 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,072 คน เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์เพื่อรณรงค์การร่วมทำบุญตักบาตรหรือเกี่ยวข้องกับพิธีทำบุญตักบาตรในวันสำคัญ ๆ เช่นวันวิสาขบูชา วันสำคัญของชาวโลก วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนและปวงชนชาวไทย ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,072 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.77 ขณะที่ร้อยละ 48.23 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 37.69 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 32.65 ในด้านพฤติกรรมการตักบาตรพระสงฆ์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 41.51 ระบุว่าตนเองตักบาตรพระสงฆ์บ้างเมื่อมีโอกาส ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.11 และร้อยละ 17.72 ระบุว่าตนเองตักบาตรเฉพาะวันเกิดและตักบาตรเฉพาะวันสำคัญ (ขึ้นปีใหม่/สงกรานต์/ครบรอบวันเสียชีวิตของญาติพี่น้องเพื่อนฝูง) ตามลำดับ ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นิยมตักบาตรทั้งอาหารและปัจจัย (เงิน) คิดเป็นร้อยละ 48.41 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.05 ที่นิยมตักบาตรเฉพาะอาหาร นอกจากนี้ ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างจะตักบาตรด้วยอาหาร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.61 จะซื้ออาหารสำเร็จรูปที่จัดเป็นชุดสำหรับตักบาตร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.13 จะซื้ออาหารสำเร็จรูปมาจัดเป็นชุดเพื่อตักบาตรด้วยตนเอง สำหรับสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างตักบาตรพระสงฆ์สูงสุด 5 อันดับได้แก่ สร้างบุญให้กับตนเอง คิดเป็นร้อยละ 84.51 ทำตามประเพณีทางศาสนา คิดเป็นร้อยละ 81.9 พ่อแม่ผู้ปกครอง/ญาติพี่น้องชักชวน คิดเป็นร้อยละ 79.48 อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร คิดเป็นร้อยละ 76.03 และเสดาะเคราะห์ คิดเป็นร้อยละ 73.6 ในด้านความรับรู้ต่อการตักบาตรพระสงฆ์นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.79 ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการตักบาตรว่าคือการให้ทานตามหลักทางพระพุทธศาสนาและการบำรุงพระภิกษุสงฆ์สามเณรให้มีอาหารบริโภคระหว่างบวชเรียนเพื่อศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน ในด้านความคิดเห็นต่อการตักบาตรพระสงฆ์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.48 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกกลัวว่าพระสงฆ์ที่ตักบาตรให้เป็นพระสงฆ์ปลอม ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 36.85 ที่ระบุว่าตนเองรู้สึกกลัว แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.36 ยอมรับว่าในการตักบาตรแต่ละครั้งตนเองเลือกพระสงฆ์ที่จะตักบาตรให้ ส่วนลักษณะสำคัญของพระสงฆ์ที่กลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะตักบาตรสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ มีกิริยาสำรวมในการเดินบิณฑบาต คิดเป็นร้อยละ 84.62 ไม่ยืน/นั่งรอรับบิณฑบาตอยู่กับที่ คิดเป็นร้อยละ 82.52 และเป็นพระสงฆ์ที่รู้จัก/คุ้นเคยกัน คิดเป็นร้อยละ 78.67 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.32 ระบุว่าข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติตนเสื่อมเสีย/ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะนั้นไม่ได้ส่งผลให้ตนเองตักบาตรพระสงฆ์น้อยลง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.63 ที่ยอมรับว่าส่งผลให้ตนเองตักบาตรพระสงฆ์น้อยลง และกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.51 มีความคิดเห็นว่าการที่มีพระสงฆ์บางรูปนั่ง/ยืนคอยรับบิณฑบาตอยู่ที่ร้านขายอาหารเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ