กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สมาคมสถาปนิกสยาม
นักประวัติศาสตร์พม่า ชี้หลักฐานที่พบล่าสุดในบริเวณสุสานลินซินกง อมรปุระ ประเทศพม่า เชื่อว่าเป็นวัดอโยธยาที่ประทับแห่งสุดท้ายของพระเจ้าอุทุมพร พร้อมแสดงความมั่นใจจากหลักฐานที่พบว่าเกี่ยวโยงโดยตรงกับพระเจ้าอุทุมพรแน่นอน
จากการที่สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์(ASA) ร่วมกับสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย จิตพรรณ Yethaphanpwint Association (YTPP) จัดทำโครงการอนุรักษ์โบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ณ สุสานลินซินกง เมืองอมรปุระ ประเทศเมียนมาร์ ล่าสุดทั้งสองสมาคมได้จัดเสวนาทางวิชาการ ในงานสถาปนิก 57 โดยเชิญนักวิชาการชาวพม่าที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และทำงานกับโบราณสถานของพม่ามาอย่างยาวนาน และสถาปนิกชาวไทยที่ได้ร่วมในการขุดค้นหลักฐานต่างๆ ซึ่งทำให้เชื่อว่าบริเวณดังกล่าว เป็นวัดอโยธยาที่ประทับแห่งสุดท้ายของพระเจ้าอุทุมพร ที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยพร้อมพระราชวงศานุวงศ์อื่นๆและราษฎรไทยเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310
นายมิกกี้ ฮาร์ท (Mickey Heart) นายกสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย จิตพรรณ กล่าวถึง การค้นพบล่าสุดของหลักฐานในบริเวณสุสานลินซินกง อมรปุระ ที่ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นวัดอโยธยาที่ประทับแห่งสุดท้ายของพระมหาเถระ พระเจ้าอุทุมพร โดยระบุว่าการค้นพบวัดอโยธยาในบริเวณสุสานลินซินกง เมืองอมรปุระ หลังจากมีการขุดค้นหาสถูปของพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งในพระราชพงศาวดารของพม่าและบันทึกราชสำนัก ได้มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าพระเจ้าอุทุมพร ที่อยู่ในสมณะเพศได้มรณภาพที่เมืองอมระปุระ ในปี พ.ศ 2339 รัชกาลของพระเจ้าปดุง
ทั้งนี้ ในสมัยที่พระเจ้าอุทุมพรยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น บริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังมิได้เป็นสุสาน แต่น่าจะเป็นวัดเพราะนอกจากพบสถูปต่างๆจำนวนมากแล้วยังพบฐานวิหารและสิ่งก่อสร้างอีกหลายหลัง โดยสถูปต่างๆที่มีอยู่ หากศึกษาพิธีปลงศพและพระศพตามประเพณีวัฒนธรรมของชาวอยุธยาจะพบว่า พิธีปลงพระศพหรือศพของราชนิกูล จะฌาปนกิจและบรรจุอัฐิไว้ในสถูปที่สร้างไว้ในวัดหลวง จึงสันนิษฐานว่าสถูปทั้งหลายที่พบเป็นสถูปบรรจุอัฐิของราชนิกูลอยุธยาที่พม่ากวาดต้อนมาทั้งสิ้น และสุสานลินซินกงนี้เดิมน่าจะเป็นวัดหลวงที่ราชนิกูลอยุธยานำพระอัฐิมาบรรจุในสถูปที่นี่ ก่อนที่วัดจะร้างไปและถูกใช้เป็นสุสานของชาวคริสต์ มุสลิม พม่า และจีน อนึ่งหากเป็นวัดพม่าจะไม่นิยมเผาศพและฝังกระดูกไว้ภายในวัด ลักษณะสุสานหลวงในวัดน่าจะเป็นวัดไทยและราชนิกูลชาวกรุงศรีอยุธยาเป็นกลุ่มเดียวที่ถูกเชิญมาอยู่ที่อังวะและอมรปุระตามลำดับ
นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดารพม่าฉบับกุงบองยังระบุว่า ปีที่พระเจ้าบะจีดอว์ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ถวายราชตำแหน่งเกียรติยศบัตรให้แก่พระสงฆ์ในอาณาจักรอมรปุระ และหนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสของวัดโยเดีย ที่อยู่ในลำดับต่อจากเจ้าอาวาสวัดตองเลยลุง (ปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกง ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร) ดังนั้นวัดทั้งสองจึงน่าจะอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ในปัจจุบันไม่มีวัดที่ชื่อวัดโยเดียอยู่แล้ว และไม่มีโบราณสถานอื่นใดในบริเวณใกล้เคียงที่น่าจะเป็นวัดร้าง นอกจากกลุ่มโบราณสถานในสุสานลินซินกง จึงมีความเป็นไปได้ว่าโบราณสถานที่พบในสุสานดังกล่าวอาจจะเป็นวัดโยเดียเนื่องจากชาวพม่าไม่นิยมมาวัดที่มีการฝังศพและเป็นสุสาน วัดนี้จึงร้างไปในที่สุด และกลายเป็นสุสานที่ทางพม่าให้ชาวต่างชาติหลายๆชาติมาฝังศพต่อมา
ข้อสันนิษฐานดังกล่าว ยังมีสิ่งที่นำมาพิจารณาประกอบทั้งโบราณสถานในบริเวณสุสาน เช่น พระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ส่วนฐานของอาคารขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นวิหาร และยังมีอาคารเสนาสนะอีกหลายแห่ง ที่สำคัญ คือ มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปเนื้อว่านบุแผ่นเงินดุนลายประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย จำนวน 14 องค์ ซึ่งการประทับนั่งขัดสมาธิราบนี้ไม่พบในพระพุทธรูปศิลปะพม่าในแถบนี้มาก่อน จึงสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา
ขณะเดียวกัน ยังมีการค้นพบกระเบื้องหลังคา ที่ทำให้เชื่อว่าเป็นวัดไทยไม่ใช่วัดของพม่า เนื่องจากวัดพม่าจะสร้างด้วยไม้หรือไม้สัก, การพบเสาเสมาในศิลปะของไทย ไม่ใช่ของพม่าที่จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน, ก้อนอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารและสถูปต่างๆ ที่บ่งชี้ยุคสมัยได้ ซึ่งอิฐแต่ละขนาดที่พบมีความสัมพันธ์กับการก่อสร้างอาคารในสมัยอมระปุระ
รวมทั้งการพบภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผาลงรักปิดทอง ประดับกระจก โดยส่วนยอดของฝามีลักษณะเป็นดอกบัวตูมสองชั้น วางอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับกระจกเขียนลายเป็นภาพเทวดามีปีก ลักษณะศิลปะดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยอมรปุระ และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ กระจกที่ประดับบนตัวภาชนะมีรูปทรงคล้ายลูกมะเดื่อ ซึ่งไม่เคยพบลวดลายนี้ในศิลปะอมรปุระเเต่มีความเป็นไปได้ว่าประดิษฐ์ขื้นเป็นลวดลายเฉพาะสำหรับพระเจ้าอุทุมพร เนื่องจากพระนามเดิมของพระองค์คือ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ภาชนะนี้ เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระจากการวิเคราะห์สีเเละผิวเครื่องเคลือบ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรประทับอยู่และสวรรคตอย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับความเห็นของนายวิน หม่อง (Win Maung) ผู้เชี่ยวชาญ การอนุรักษ์ โบราณสถานจากประเทศพม่า/อุปนายกสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย จิตพรรณ ที่ได้กล่าวถึงหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆที่ขุดค้นพบบริเวณสุสานลินซินกงว่า เหตุผลที่ทำให้ตนเองมีความมั่นใจว่าสถานที่ที่ค้นพบนี้ เป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจริง เพราะได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์มาอย่างรอบด้านแล้ว โดยมีข้อมูลสำคัญ 7 ประการด้วยกัน คือ
1.พงศาวดารพม่าคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวดต้อนไปพม่า เมืองหลวงคืออังวะ จากนั้นจึงย้ายมาอยู่อมรปุระ
2.สุสานลินซินกง ถือว่าเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติเท่านั้น
3.ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพม่า (parabike) ระบุว่ามีพระมหากษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงพระศพจากกษัตริย์พม่า คือ พระเจ้าปดุง ที่สุสานล้านช้างแห่งนี้
4.ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธาน และพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมถึงหลักฐานที่เป็นแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
5.ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
6.ลักษณะภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า ประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
7.อัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้ว ยังพบกระดุมสายรัดประคต ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งหากวิเคราะห์ความพ้องต้องกันกับในสมัยนั้นก็มีพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลได้จากการวิเคราะห์พระอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตรชิ้นส่วนที่เป็นกรามและกะโหลก ดร.ทิน หม่อง จี นายแพทย์ชาวพม่าได้วิเคราะห์ว่าเป็นของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตามการคำนวณพระชันษาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระองค์ท่านมีพระชนมายุ 62 พรรษา
ทางด้านอาจารย์วิจิตร ชินาลัย ผู้อำนวยการโครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระ พระเจ้าอุทุมพร กล่าวว่า จากการค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆในบริเวณสุสานลินซินกงนี้ ทำให้ทางสมาคมฯต้องการที่จะอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นอนุสรณ์สถานของพระเจ้าอุทุมพร โดยไม่เกี่ยวกับว่ากระดูกหรืออัฐิที่พบในบาตรนั้นจะเป็นของพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่อย่างไร
“เราต้องการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เพื่อให้ภายภาคหน้า เพื่อนักวิชาการจะได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ เเละเป็นเเหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง แต่ถ้าไม่มีการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นมีแผนพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ การศึกษาข้อมูลเชิงลึกในอนาคตก็คงจบสิ้นแค่นี้”
ส่วนการดำเนินการต่อไปจะเป็นในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือรัฐบาลกับเอกชนก็ตาม เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธในพม่าและไทย ให้มีความสัมพันธ์ที่ยืนยาว สอดรับกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) และเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอุทุมพร และรำลึกถึงพระบรมวงศานุวงศ์,ข้าราชบริพาร รวมทั้งราษฎรที่ไปเป็นคนไทยพลัดถิ่นอยู่ในพม่า โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากคนไทยในการดำเนินโครงการดังกล่าว และพร้อมจะนำข้อมูลใหม่ๆที่ได้ค้นพบมาแบ่งปันต่อไปในอนาคต
อนึ่ง สมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย จิตพรรณ Yethaphanpwint Association (YTPP) เป็นองค์กรอิสระ ไม่แสวงผลกำไรของคณะทำงานพม่า-ไทย ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินงานทางด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนางานทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์ โดยมี นายมิคกี้ ฮาร์ท สถาปนิกและนักประวัติศาสตร์พม่า เป็นนายกสมาคม และมีนายวิจิตร ชินาลัยเป็นอุปนายกจากฝ่ายไทย
อนึ่ง ในขณะนี้ โครงการอนุสรณ์สถานฯ ยังอยู่ในช่วงที่ถูกระงับให้ดำเนินการต่อจากรัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์ และยังไม่มีความชัดเจนในขั้นตอนต่อไปจากนี้ อย่างไรก็ดีคณะทำงานไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ดำเนินการเขียนจดหมายไปถึงประธานาธิบดี สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมาร์ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความตั้งใจและความพร้อมที่จะดำเนินการต่อ อย่างไรก็ดี พื้นที่ประวัติศาสตร์ร่วมพม่า – ไทย ที่ลินซิงกง ยังมีหลักฐานอีกมากมายซ่อนอยู่ภายในองค์พระสถูปอีกหลายสิบองค์รวมถึงพื้นที่ใต้ดินที่ยังไม่ได้รับการขุดค้นอีกราว 10 ไร่ หากได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อก็จะสามารถพบหลักฐานเพิ่มเติมที่จะประติดประต่อประวัติศาสตร์และเรื่องราวของราชนิกูลและชุมชนชาวอยุธยาในอมรปุระที่ถูกลืมเลือนไปให้กระจ่างขึ้นได้เป็นอย่างดี คณะทำงานโครงการหวังว่าจะได้มีโอกาสดำเนินการต่อในเร็ววัน