กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--ซอฟต์แวร์พาร์ค
นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า การจัดตั้ง Thailand Pavillion ในงาน CommunicAsia 2014 ในเดือนมิถุนายนปีนี้ เป็นการจัดงานร่วมกันเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันกับพันธมิตรที่เข้มแข็งคือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปีนี้ขนาดของพื้นที่จะคงเท่าเดิม และยังคงแนวคิดของการจัดงานเป็น “Gateway to Telecommunication and Mobile Solutions” หรือประตูสู่ตลาดโซลูชั่นโทรคมนาคมและอุปกรณ์เคลื่อนที่ระดับโลก ตามแนวทาง Gateway to Global ของซอฟต์แวร์พาร์ค และเพื่อชูจุดเด่นของกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดในโซลูชั่นกลุ่มนี้ในรอบปีที่ผ่านมา
ในส่วนของการคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่ไปออกบูธครั้งนี้ ซอฟต์แวร์พาร์คได้ใช้วิธีคัดเลือกตามความโดดเด่นของโซลูชั่น โดยจะมีทั้งผู้ประกอบการที่เคยไปงานนี้มาก่อน และมีรายใหม่ที่ไม่เคยร่วมงานด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายประสบการณ์ระหว่างกัน สร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาติดต่อ และเป็นการเปิดโอกาสให้รายใหม่ๆ ได้ขยายตลาดในต่างประเทศด้วย
“การคัดเลือกผู้ประกอบการในครั้งนี้ เน้นเพื่อการขายจริงๆ ไม่เน้นการไปแค่เปิดตลาด หรือลองตลาด รายที่ไปต้องมีประสิทธิภาพและโอกาสที่จะปิดการขายได้ทันที ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ร่วมกับเราสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 80 ล้านบาท และในปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คตั้งเป้าหมายว่าควรจะมียอดขาย ประมาณ 100 ล้านบาท” นายเฉลิมพล กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการทั้ง 14 รายที่เข้าร่วมงาน CommunicAsia 2014 ในบูธ Thailand Pavillion ประกอบด้วย ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร การขนส่ง การศึกษา สื่อสมัยใหม่ และการสื่อสาร ดังนี้
ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรและการขนส่งประกอบด้วย บริษัท AppMan ซึ่งพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารการตลาด โดยนำระบบ SalesMate ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันรองรับฝ่ายขายในภาคธุรกิจ ทำงานผ่านหลายระบบทั้งโทรศัพท์มือ ถือและเว็บเบสแอพพลิเคชั่น, บริษัท Jorlek จะนำระบบ QueQ ซึ่งเป็นโมบายแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจไปทำตลาดต่างประเทศ, บริษัท Netka System ซึ่งพัฒนาระบบ NetkaView Network Manager ไว้จัดการอุปกรณ์เครือข่าย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก, บริษัท Promptnow ซึ่งจะนำเสนอ 3 โซลูชั่นคือ m-Banking/ m-Insurance/ healthcare, บริษัท Roomlink Saas นำระบบแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในธุรกิจค้าปลีกเข้ามาร่วมงาน และ บริษัท Sun Systems ที่จะนำ “Call-genie” Cloud Services Smart Office Solution มาเปิดตลาดเอเชีย หลังได้รับความสำเร็จในตลาดไทย, บริษัท Success Strategy Solution ที่พัฒนาระบบ Cargo Optimizer จัดการเรื่องการจัดวางสินค้าระหว่างขนส่ง
สำหรับซอฟต์แวร์ด้านการศึกษาและสื่อสมัยใหม่ รวมไปถึงการสินค้าด้านสื่อสาร มี บริษัท 23 Studio นำ Tuck Me In Bed Time Story ซึ่งเป็น interactive book เข้าไปเจาะตลาดต่างประเทศ, บริษัท Khroton นำระบบ Industry Directs และ Buzzzard ซึ่งถือเป็นซอฟต์แวร์ทางด้านการศึกษาที่ใช้ระบบโซเชียลมีเดียในการทำงานมาเข้าร่วม, บริษัท APPTIVIDIA ซึ่งพัฒนาระบบ PUBLIZH ที่ทำงานเกี่ยวกับ Catalog Live, Smart Brochure, Digital Publishing ไปแสดงในงาน, บริษัท Innovation Plus ซึ่งคิดค้นระบบ Smart Sign ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้, บริษัท Thoth Media จะนำระบบ KPIology ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในกลุ่ม New Media ที่น่าสนใจมาก, บริษัท Mobiliti ซึ่งนำระบบ Application "Stamp" ที่ฮือฮาในกลุ่ม start-up ในรอบปีที่ผ่านมาเข้ามาลุยตลาดจริง, และสุดท้าย บริษัท Universal Matrix Technology ที่จะนำระบบ Interoperability system, Jammer, Broadband Solutions ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มซอฟต์แวร์ด้าน Communication, Information and Security ที่กำลังได้รับความสนใจจากตลาดในขณะนี้