สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ที่ 5-9 พ.ค. 57 และ แนวโน้มสัปดาห์ที่ 12-16 พ.ค. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 14, 2014 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 100.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 104.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 0.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว โดย HSBC ร่วมกับ Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Purchasing Managers’ Index หรือ PMI) ในเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 48.1 จุด ซึ่ง PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะภาคการผลิตถดถอย เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน - องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปีนี้ ลง 0.2% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน มาอยู่ที่ 3.4% จากปีก่อน - กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานยอดส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 57 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยเพิ่มขึ้น 370,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกจากตอนใต้ของประเทศ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - สำนักสารนิเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ค. 57 ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 397.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น - วิกฤติยูเครนยังตึงเครียด อาทิ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งฝักใฝ่รัสเซียประกาศดำเนินการลงประชามติ ในวันที่ 11 พ.ค. เพื่อแยกเมือง Donetsk และ Luhansk ออกไปปกครองตนเอง แม้ประธานาธิบดีรัสเซียออกมาแถลงไม่เห็นชอบด้วย - ลิเบียยังผลิตน้ำมันดิบได้ในระดับต่ำ เพียง 250,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงไม่เชื่อถือต่อนายกรัฐมนตรีรักษาการคนใหม่ เพิ่มความไม่แน่นอนในการเจรจาหาข้อยุติเพื่อกลับมาเปิดดำเนินการท่าส่งออก 2 แห่ง แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ ส่วนหนึ่งจากการผลิตขององค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) โดยในเดือน เม.ย. 57 เพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 29.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ยังใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ข้อมูลล่าสุดจะลดลงมาบ้างก็ตาม ประกอบกับเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. 57 ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน อยู่ที่ +1.8% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ถดถอยเป็นเดือนที่ 26 อยู่ที่ -2% สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากำลังการผลิตล้นตลาด (Overcapacity) อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยูเครนยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะในภาคตะวันออก หลังการลงประชามติ ในขั้นต้นปรากฏว่า 89 % ต้องการแยกดินแดนออกมาปกครองตนเอง และกองกำลังฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ายึดคืนพื้นที่ ปะทะกับฝ่ายต่อต้าน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106-109 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 103-106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 98-101 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในสัปดาห์ล่าสุดราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลง โดยปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 13.0 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ และอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 57 ต่ำกว่าคาดการณ์ โดยปริมาณ 88 RON อยู่ที่ 8.5-9.0 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เดือน มิ.ย. 56 อินโดนีเซียนำเข้า 10.4-10.6 ล้านบาร์เรล เพื่อเก็บสำรองก่อนเข้าสู่เทศกาลถือศีลอด ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118-121 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง โดยปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ผู้ค้าคาดจีนจะส่งออก Gas Oil เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับอุปสงค์จากการทำประมงทางภาคใต้ ในช่วงกลางเดือน พ.ค.- ส.ค. 57 จะลดลงประมาณ 2.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากเป็นช่วงห้ามจับปลาทะเล สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 121-124 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ