กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ
นางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือด้านการเกษตรร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงขององค์การบริหารธัญพืชแห่งรัฐ (State Administration of Grain:SAG) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ว่า ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ด้านการผลิตข้าวในไทย โดยอุปสงค์และอุปทานของข้าวในปี 2557 คาดว่า ผลผลิตจะมีปริมาณมากเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยไทยจะผลิตข้าวได้ถึง 25.25 ล้านตันข้าวสาร ทางด้านอุปสงค์ของการบริโภคในปีนี้ คือ 9.27 ล้านตันข้าวสาร สำหรับการส่งออกข้าวในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านตันข้าวสาร นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ปี 2557 ไทยจะส่งออกข้าวประมาณ 8.7 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปี 2556 ถึง 2 ล้านตัน โดยจะขึ้นเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย ทั้งนี้ FAO คาดว่า อุปสงค์ข้าวโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยเฉพาะความต้องการข้าวของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าว 3.3 ล้านตัน ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียคาดว่า จะนำเข้าข้าวถึง 1.2 และ 1.1 ล้านตัน ตามลำดับ
นางจิราวรรณ กล่าวต่อไปว่า คณะเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง SAG ได้หยิบยกปัญหาข้าวหอมมะลิไทยมาหารือ โดยที่ผ่านมาจีนได้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อย แต่ในระยะหลังผู้บริโภคของจีนได้ท้วงติงถึงรสชาติข้าวไทยที่มีความหอมหวานน้อยลง ซึ่งอาจเกิดจากการปลอมปนข้าวสาร ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยไปตลาดจีนในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ 1.การส่งออกข้าวขาวหอมมะลิ ซึ่งข้าวขาวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีราคาที่แพงขึ้น ในขณะที่ข้าวขาวของเวียดนามมีราคาถูกกว่า ทำให้จีนมีการนำเข้าข้าวไทยน้อยลง แต่มีการนำเข้าข้าวของเวียดนามเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ไทยยังขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงซึ่งแพ็คมาจากไทย โดยมีตราสัญลักษณ์ C.C.I.C. ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพมาตรฐานข้าวที่เชื่อถือได้ 2.การส่งออกข้าวขาวหอมมะลิในลักษณะถุงขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการของจีนนำไปรีแพ็คในจีน ซึ่งอาจเกิดการปลอมปนได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควบคู่กับตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานพันธุ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กลไกของหุ้นส่วนนโยบายว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค ไทยพร้อมที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเติบโตในปีนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันกับสมาชิกเอเปคอื่นๆ ตามขอบเขตที่ตกลงกันไว้