แอร์เอเชียเน้นความปลอดภัยในการเดินทางให้กับผู้โดยสาร เพิ่มระบบตรวจสอบพาสปอร์ตเทียบร่วมกับองค์กรตำรวจระดับโลก

ข่าวบันเทิง Wednesday May 14, 2014 18:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--แอร์เอเชีย แอร์เอเชียพยายามอย่างยิ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางระหว่างประเทศ จึงได้ริเริ่มนำระบบ I-Checkit มาทดลองใช้ โดยระบบนี้ได้รับการพัฒนาจาก INTERPOL องค์กรตำรวจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก มีหน้าที่หลักในการช่วยเหลือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมและการก่อการร้ายข้ามชาติในทุกรูปแบบ โดยระบบนี้จะตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้โดยสารอ้างอิงกับฐานข้อมูลเอกสารการเดินทางที่สูญหายหรือถูกขโมย (Stolen and Lost Travel Documents: SLTD) จากหน่วยงานตำรวจทั่วโลก โครงการนำร่องจะเริ่มทดลองใช้ระบบในเดือนนี้ โดยแอร์เอเชียจะเป็นสายการบินระหว่างประเทศแห่งแรกที่จะระบบ I-Checkit มาใช้ในขั้นตอนการเช็คอินของผู้โดยสาร ทั่วทั้งเครือข่ายเส้นทางบินที่แอร์เอเชียให้บริการ ระบบนี้จะตรวจสอบหมายเลขหนังสือเดินทางของผู้โดยสารเทียบกับฐานข้อมูลเอกสารการเดินทางที่สูญหายหรือถูกขโมย (SLTD) ของ INTERPOL ซึ่งมีบันทึกข้อมูลไว้กว่า 40 ล้านชุดจาก 167 ประเทศทั่วโลก ระบบ I-Checkit จะอนุญาตให้สายการบินสอบถามจากฐานข้อมูล SLTD แต่จะไม่ให้เข้าถึงฐานข้อมูลโดยตรง นอกจากนี้โครงการนำร่องนี้จะเคารพกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล จึงจะไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลๆ โอนถ่ายไปยัง INTERPOL ข้อมูลที่จะนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูล SLTD มีเพียงหมายเลขเอกสารการเดินทาง รูปแบบของเอกสาร และรหัสประเทศ ถ้าตรวจสอบแล้ว ข้อมูลหนังสือเดินทางของผู้โดยสารตรงกับฐานข้อมูล SLTD แอร์เอเชียจะมีกระบวนการที่จะส่งต่อผู้โดยสารไปยังหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต่อไป กระบวนการของ INTERPOL จะถูกรวมเพื่อแจ้งไปยังสำนักงานกลางของ INTERPOL ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกในเวลาเดียวกัน โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า “แอร์เอเชียรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นสายการบินแรกในโลกที่ร่วมมือกับ INTERPOL ในการนำระบบ I-Checkit มาใช้ การร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และจะช่วยให้เราสามารถมอบค่าโดยสารราคาประหยัดที่เพิ่มมาด้วยความมั่นใจจากระบบที่พันธมิตรได้จัดหามาสนับสนุนเราในครั้งนี้ ระบบ I-Checkit จะถูกนำมาใช้กับเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมดของแอร์เอเชีย ครอบคลุมกว่าสนามบินกว่า 100 แห่งทั่วเอเชีย ด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศกว่า 600 เที่ยวบินต่อวัน” ทั้งนี้หากระบบ I-Checkit ตรวจสอบพบการใช้ข้อมูลหนังสือเดินทางที่สูญหายหรือถูกขโมย จะมีการแจ้งเตือนไปยังสำนักงานส่วนกลาง (National Central Bureau: NCB) ของ INTERPOL ในประเทศที่เป็นเจ้าของหนังสือเดินทางฉบับนั้น รวมทั้งแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการทั่วไป (General Secretariat) ของ INTERPOLซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส โรนัลด์ เค. โนเบิล เลขาธิการใหญ่ของ INTERPOL กล่าวระหว่างการเข้าดูระบบการให้บริการของแอร์เอเชียที่อาคาร KLIA2 ว่า “INTERPOL รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับแอร์เอเชียในการนำร่องใช้ระบบ I-Checkit ระบบนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินในแง่ของการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร โดยป้องกันการนำหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยหรือสูญหายมาใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศ” เลขาธิการใหญ่ของ INTERPOL กล่าวเพิ่มเติมว่า “แอร์เอเชียได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการรักษาความปลอดภัยของสายการบิน โดยตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศกับฐานข้อมูลของ INTERPOL หลังจากวันนี้ ไม่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลหนังสือเดินทางให้ปลอดจากอาชญากรหรือผู้ก่อการร้ายที่จะนำหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยมาใช้ แต่สายการบินอย่างแอร์เอเชียสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตรวจสอบได้ด้วยเช่นกัน” ปัจจุบัน ประเทศที่ตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้โดยสารอย่างเป็นระบบกับฐานข้อมูล SLTD มีน้อยกว่า 10 ประเทศ หรือเทียบได้ว่าผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศ 4 คนจาก 10 คนไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลหนังสือเดินทางเทียบกับฐานข้อมูลของ INTERPOL ระบบ I-Checkit ได้รับการออกแบบเพื่อแก้ไขช่องว่างในการรักษาความปลอดภัย โดยอนุญาตให้สายการบินตรวจสอบข้อมูลหนังสือเดินทางของบุคคลที่จะเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ทันที ผ่านการตรวจสอบจากฐานข้อมูลเอกสารการเดินทางที่สูญหายหรือถูกขโมยของ INTERPOL เมื่อหนังสือเดินทางได้รับการแสกน ระบบจะใช้เวลาเพียง 0.5 วินาทีในการสอบถามไปยังฐานข้อมูลของ INTERPOL คำบรรยายภาพ: จากซ้ายไปขวา – ไอรีน โอมาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอร์เอเชีย เบอร์ฮัด (แอร์เอเชีย มาเลเซีย) โรแลนด์ เค. โนเบิล เลขาธิการใหญ่ของ INTERPOL และอัซราน ออสมัน-รานิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ขณะเข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานที่สำนักงานแอร์เอเชีย เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ