กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--โฟร์ พี แอดส์
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังพิธีลงนามความร่วมมือ(MOU)กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านงานระบาดวิทยาและการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ทำงานร่วมกับ สวทช.ในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ เพื่อการพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ การจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อการควบคุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซํ้า เป็นต้น แต่ยังไม่เคยได้มีการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการ การลงนามครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมกันพัฒนาการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคต่างๆรวมถึงการพยากรณ์โรคด้วย
ทั้งนี้ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกเชิงรุก เป็นโครงการนำร่องในการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศของ สวทช. เข้ามาช่วยในการทำงานให้สะดวกรวดเร็ว แม่นยำและ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยใช้โปรแกรมการสำรวจลูกนํ้ายุงลายด้วยแท็ปเล็ต แอนดรอยด์ ที่ออกแบบมาให้สามารถลงทะเบียนและระบุตัวตน แยกตามสำนักงานป้องกันควบคุมโรคระดับเขตได้ สามารถสํารวจและเก็บบันทึกรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ ต้นทางอย่างเป็นระบบโดยใช้โปรแกรมทำงานบนอุปกรณ์ Tablet หรือ Smartphone ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ (Andriod) เป็นโปรแกรมที่ออกแบบโดยอ้างอิงจากระบบบันทึกด้วยกระดาษ แต่ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการเรียกดูประวัติข้อมูลดัชนีทางกีฏวิทยา (HI, CI, BI) ในพื้นที่ที่ทำการสำรวจ พร้อมระบุพิกัดภูมิศาสตร์ บ้านหรือสถานที่ที่สำรวจ และแสดงข้อมูลผ่านแผนที่สามารถแยกเฉดสีตามระดับความเสี่ยงของค่าดัชนีกีฏวิทยา ที่สำคัญสามารถบอกถึงค่าดัชนีจำนวนลูกน้ำยุงลายแต่ละแห่งได้ด้วยว่ามีจำนวนมากหรือน้อยเท่าไร พบมากในภาชนะไหนและเกิดขึ้นในสถานที่ใด โดยมีจีพีอาร์เอสเป็นตัวกำกับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปทำการสำรวจ สามารถแจ้งเตือนผ่าน SMS หรือ Social network ถึงเครือข่ายในพื้นที่ที่มีค่าดัชนีกีฏวิทยาเกินค่ามาตรฐาน และแจ้งไปยังบุคลากรและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดได้อย่างทันท่วงที
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าปัจจุบัน สวทช.ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค เริ่มใช้โปรแกรมบันทึกการสำรวจลูกนํ้ายุงลายและได้มีการทดสอบภาคสนามไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2557 ที่ ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งผลการทดสอบพบว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและจะมีการขยายผลโดยร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีที่เป็นจังหวัดแรกในการใช้ระบบสำรวจนี้ ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปจะนำข้อมูลผู้ป่วยไข้เลือดออกมาแสดงความสอดคล้องของอัตราป่วยโรคไข้เลือดออกและค่าดัชนีลูกนํ้ายุงลายและจะมีการประสานข้อมูลจาก Tablet หรือ Smart phone แสดงบนคอมพิวเตอร์ผ่าน Web-service ทำให้สามารถเรียกดูข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะทำระบบติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก (DMAS) เพื่อรายงานสถานการณ์และกระจายข่าวสารแก่ผู้รับผิดชอบในลักษณะใกล้เคียงกับเวลาปัจจุบัน และจะทำระบบรายงานโรคไข้เลือดออกและการสำรวจลูกนํ้ายุงลายเชิงวิเคราะห์ (DMAR) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในแก้ปัญหา โดยการเชื่อมฐานข้อมูลผ่านโปรแกรม R.506 (รง.506) สำหรับการต่อยอดโปรแกรมให้สามารถเชื่อมต่อและใช้งานได้ทั้งประเทศ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคระดับเขตหรือองค์กรสารสนเทศที่สำคัญ ในอนาคตระบบจะสามารถนำมาประมวลผลจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกและสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย
การลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. และกรมควบคุมโรคครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันในด้านวิชาการและสนับสนุนการดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านงานระบาดวิทยาและการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ 1.สนับสนุนการทำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายและการระบาดของโรคติดต่อที่สำคัญ โดยการนำความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ 2.สนับสนุนการทดสอบการใช้งานผลงานที่พัฒนาขึ้นร่วมกัน โดยให้การสนับสนุนทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากร และอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้องตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งร่วมผลักดันผลงานและขยายผลสู่หน่วยงานอื่นๆ 3.ประสานความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการจัดหาทรัพยากร เพื่อให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้