กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สำนักงานบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปลานิล ถือได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมากชนิดหนึ่งของประเทศไทย มีตลาดส่งออกรายใหญ่ คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีปริมาณการส่งออกเป็นอันดับที่สี่ของโลก นอกจากนี้ไทยยังส่งออกปลานิล ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน (AEC) ประกอบด้วย ประเทศ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และ ลาว ปัจจุบันมีการใช้ยาและสารเคมีหลายชนิด เพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงมักพบว่ามีผลข้างเคียงต่อสัตว์น้ำ และทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้ใช้ รวมทั้งสารเคมีบางกลุ่มยังไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่บริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารอีกด้วย
รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงดอกเตอร์ (รศ.สพ.ญ.ดร.) เจนนุช ว่องธวัชชัย อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทาง โดยเฉพาะปลา ซึ่งปัจจุบันเทรนการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ลดจำนวนลงเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคปลาเป็นอาหารหลัก รวมไปถึงประเทศไทยจัดเป็นตลาดส่งออกปลารายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก จึงได้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมที่ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
ผลงานวิจัย “อะควาเนส” ได้เริ่มทำการศึกษามาตั้งแต่ปี 2546 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากข้อสงสัยของนิสิตเกี่ยวกับยาสลบในสัตว์น้ำ ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีการใช้ยาที่ไม่ปลอดภัยมากนัก และมีสารก่อมะเร็ง รวมทั้งมีราคาแพง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล จึงได้ทำการค้นคว้าและวิจัยอย่างจริงจังจนได้ อะควาเนส “Aquanes” ยาสลบสำหรับสัตว์น้ำ โดยได้ตั้งศูนย์วิจัย ขึ้นในจังหวัดนครพนม เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีสภาพน้ำที่แตกต่างกัน
ยาสลบสำหรับสัตว์น้ำ “อะควาเนส” (Aquanes) ผลิตจากสารธรรมชาติคือ น้ำมันกานพลูที่มีความบริสุทธิ์สูงและสารอื่นๆ ทางเภสัชกรรม อยู่ในรูปของยาละลายใสพร้อมใช้ สามารถออกฤทธิ์ให้สัตว์น้ำมีอาการซึม ลดการเคลื่อนไหว ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดการเผาผลาญพลังงาน จนถึงทำให้สัตว์น้ำซึมลึกและสงบ ช่วยให้สัตว์น้ำยังคงความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ ไว้ได้ดี ลดการขับถ่ายของเสียและความบอบช้ำในการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำจากบ่อเพาะเลี้ยงเพื่อชั่งน้ำหนัก ผสมเทียม ฉีดยาทำวัคซีน ฯลฯ มีความปลอดภัยต่อ สัตว์น้ำ เกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้บริโภคสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นยาสลบสำหรับสัตว์น้ำตัวแรกของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.)กระทรวงสาธารณสุข
ในขณะนี้ จุฬาฯ ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เบ็ทเทอร์ฟาม่า จำกัด เพื่ออนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีการผลิตยาสลบสำหรับสัตว์น้ำ “อะควาเนส” และการจัดจำหน่ายในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ปัจจุบันมีการจดสิทธิบัตร และยังได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยการเกษตรเชิงพาณิชย์ดีเด่น ประจำปี2551 ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประชุมวิชาการประจำปี 2551 ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และได้รับรางวัลเกียรติคุณพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่นิสิตทีม Oceanic Inc. จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ในการนำ“อะควาเนส” เข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจระดับเอเชียแปซิฟิก “The Mai Bangkok Business Challenge@Sasin 2007”