กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--C.P. Intertrade
ชาวนาบุรีรัมย์ เป็นปลื้ม ภายหลังเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวหอมมะลิกับ “ข้าวตราฉัตร” เผยขายข้าวได้ราคาดี ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ลดต้นทุนเพาะปลูก ผลผลิตต่อไร่สูง ประกาศมั่นใจในโครงการสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ ของบริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (หรือข้าวตราฉัตร) เป็นโครงการฯ ที่มีมาตรฐาน ทั้งด้านการรับซื้อ และการนำระบบการบริหารจัดการเพาะปลูกที่ถูกต้องมาใช้ จนได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการของตลาด...
แนะวิทยายุทธ์ปลูกข้าวหอมมะลิ
“ผลผลิตดี เพิ่มราคา ลดต้นทุน”
“นายไตรรัตน์ฯ” แนะนำขั้นตอนการปลูกข้าวหอมมะลิ ให้ได้ผลผลิตดี ราคาสูง ต้นทุนต่ำ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน เพาะเมล็ดพันธุ์ ปักดำ การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง การดูแลรักษาต้นข้าวให้เหมาะสม การกำจัดศัตรูพืช จนไปถึงการนวด-ตากข้าว แบบครบวงจร “ใครทำตามสูตร ขายได้ราคาดีแน่นอน”
นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เปิดเผยว่า การปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ตามหลัก GAP ที่ถูกต้องการคือ จะต้องคัดเลือกพื้นที่ปลูกข้าว โดยสภาพดินควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีค่า pH~ 5.5-6.5 ควรมีการตรวจวิเคราะห์ดินภายใน 3 ปี อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ตรงตามสายพันธุ์ มีอัตราความงอกไม่ต่ำกว่า 80% โดยนาหว่านข้าวแห้ง จะใช้เมล็ดพันธุ์ 15-20 กก./ไร่ นาปักดำมือ ใช้ 6-8 กก./ไร่
ทางด้านขั้นตอนการเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ในนาหว่านข้าวแห้ง ให้ไถพรวน โดยใช้ผาน 3-6 ให้ลึกประมาณ 15-20 เซ็นติเมตร เพื่อกลบตอซัง พลิกดิน และกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ หว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 15-20 กก./ไร่ โดยหว่านให้สม่ำเสมอและกระจายทั่วทั้งแปลง ใช้โรตารี่ ปั่นตีดิน ในสภาพดินแห้ง ลึกประมาณ 15 เซ็นติเมตร เพื่อกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ให้แน่นพอเหมาะ และกระจายตัวสม่ำเสมอ หรือใช้รถไถเดินตามผาน 2 ไถกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ แล้วจึงใช้คราดเกลี่ยดินเพื่อให้ได้ระดับเดียวกัน เหมาะสมต่อการงอกของข้าว
ส่วนนาปักดำมือ การเตรียมแปลงตกกล้า ให้ไถพรวน โดยใช้ผาน 3-6 ทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้น ขังน้ำให้ได้ประมาณ 3 เซ็นติเมตร ไถพรวน ผาน 2 แล้ว คราดดินให้ละเอียด เพาะเมล็ดให้งอกตุ่มตายาว 1-2 มิลลิเมตร ต่อมาหว่านเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้ว ค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำจนต้นกล้าข้าวอายุ 25-30 วัน จึงนำไปปักดำได้ ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 1.5 กก./ไร่ ก่อนถอนกล้า 5-7 วัน เพื่อให้ง่ายต่อการถอน
การเตรียมแปลงเพื่อ การปักดำมือ ให้ไถพรวน ผาน 3-6 ทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้นขังน้ำให้ได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ไถพรวน ผาน 3-6 อีกครั้ง แล้วคราดดินให้ละเอียด ขังน้ำให้ได้ประมาณ 3-5 เซนติเมตร รอปักดำ สำหรับพันธุ์มะลิ 105 ให้ปักดำที่ระยะ 25x25 เซนติเมตร ถอนกล้าโดยไม่ต้องตัดใบและไม่ฟาดมัดกล้า เพราะจะทำให้ต้นกล้าช้ำ ปักดำ 3-5 ต้น/กอ ลึก 3-5 เซนติเมตร ระดับน้ำขณะปักดำ ต้องไม่เกิน 10 เซนติเมตร
เรื่องการการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้น ให้ใส่ก่อนไถพรวน ผาน 3-6 โดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 40-50 กก./ไร่ หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ‘หมอดิน’ ในอัตรา 40 กก./ไร่
การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ในนาหว่านข้าวแห้ง ควรใส่ในช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ (ต้นเดือน ส.ค.) โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 20–25 กก./ไร่ สำหรับนาดินทราย และใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว ส่วนนาปักดำมือ ให้ใส่หลังปักดำ 10-12 วัน หรือในช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 20–25 กก./ไร่ สำหรับนาดินทราย และสูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว
การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ให้ใส่ปุ๋ยก่อนข้าวออกดอกประมาณ 30 วัน (ประมาณวันที่ 20 ก.ย. ของทุกปี) โดยใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 5-10 กก./ไร่ ทุกครั้งที่จะทำการใส่ปุ๋ย ในแปลงนาต้องมีน้ำขังประมาณ 3-8 เซนติเมตร เพื่อข้าวสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการกำจัดวัชพืช ก่อนงอก ให้ใช้สารเคมีประเภท ยาคุมหญ้า พ่นหลังหว่านข้าว 3-7 วัน โดยสารเคมีจะไปทำลายวัชพืชทางส่วนของเมล็ด ราก และยอดอ่อน ใต้ดิน สารกำจัดวัชพืช ประเภทนี้ได้แก่ บิวทาคลอร์, เพรททิลาคลอร์, อ๊อกซาไดอะซอน การกำจัดวัชพืชหลังงอก ใช้สารเคมีประเภท ยาฆ่าหญ้า พ่นหลังจากวัชพืชงอกเกิน 10 วัน ขึ้นไป โดยพ่นให้สัมผัสส่วนของวัชพืชให้มากที่สุด สารกำจัดวัชพืชประเภทนี้ได้แก่ โปรปานิล ฟิโนซาพรอบ-พี-เอทิล และ 2,4-ดี ส่วนการใช้แรงงานกำจัดวัชพืช ก็ต้องกำจัดไม่ให้วัชพืชขึ้นรบกวนในช่วงวิกฤต ประมาณ 30 วันหลังข้าวงอกหรือปักดำ
การดูแลรักษาต้นข้าว แบ่งทำเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแตกกอ ให้ตรวจดูลักษณะการแตกกอ การชูใบ ขนาดความสูงของใบ หากพบต้นผิดปกติให้ถอนทิ้งทันที ระยะออกดอก ให้ตรวจดูความสูงของต้นข้าวในระยะออกดอก การออกดอกก่อนหรือหลัง ลักษณะของดอก สี ขนาดของเกสรตัวผู้ ถ้าพบต้นผิดปกติ ให้ตัดทิ้งทันทีเช่นเดียวกัน
เรื่องโรคข้าวที่สำคัญ มีหลายโรคด้วยกันและต้องระมัดระวังคือ โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล วิธีการแก้ไข คือ ไม่ใส่ปุ๋ย ไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไป หมั่นสำรวจแปลงนาเป็นประจำ เพื่อจะได้เห็นความผิดปกติของต้นข้าวได้เร็ว ถ้าอาการของโรครุนแรง ก็ให้ใช้สารเคมีในการพ่นกำจัด ตามคำแนะนำของ เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ
ทางด้านแมลงที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนกอ วิธีการแก้ไข คือ ไม่ใส่ปุ๋ย ไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไป เพราะจะทำให้ใบข้าวงามเกินไป หมั่นสำรวจแปลงนาเป็นประจำ เพื่อดูว่า พบแมลงดังกล่าว เริ่มเข้าทำลายเมื่อใด เพื่อจะได้จัดการได้อย่างทันท่วงทีถ้าพบ การระบาดรุนแรง ก็ให้ใช้สารเคมีในการพ่นกำจัด ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ
การเก็บเกี่ยวเป็นเรื่องสำคัญ ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม เกษตรกรจะต้องบันทึกวันออกดอก (เมื่อข้าวออกดอก 80% ของแปลง) การกำหนดวันเก็บเกี่ยว โดยนับจากวันออกดอกไปไม่น้อยกว่า 25 วัน และไม่เกิน 35 วัน การเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ได้น้ำหนักเมล็ดสูง เปอร์เซนต์ข้าวเต็มเมล็ดดี และมีคุณภาพการสีดี
วิธีการเก็บเกี่ยว ก่อนทำการเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน ควรมีการระบายน้ำออกจากแปลงนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน การเก็บเกี่ยวต้องใช้เครื่องจักรที่เหมาะสม จะทำให้ข้าวร่วงหล่นน้อย โดยตรวจสอบประวัติรถเกี่ยวก่อน ถ้าเกี่ยวพันธุ์อื่นมา ให้ทำความสะอาดรถเกี่ยวเพื่อกำจัดพันธุ์อื่นที่ตกค้างให้หมดก่อน ส่วนการเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน ต้องมีการวางแผนเรื่องแรงงานให้เหมาะสมกับปริมาณของงาน และควรเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายในเวลาอันสั้น
การตากข้าวก่อนนวด ( กรณีเกี่ยวด้วยมือ ) เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวด้วยมือ แล้วให้ทำการรวบเป็นกำ ที่พอเหมาะ (ฟ่อน) หลังจากนั้นทำการมัดฟ่อน แล้วตากข้าวไว้ประมาณ 2-3 แดด โดยหมั่นกลับกองข้าวเพื่อให้แห้งสม่ำเสมอ เมื่อข้าวแห้งแล้ว จึงนำไปกองรวมกันไว้ในที่ร่ม รอการนวด การนวดข้าว (กรณีเกี่ยวด้วยมือ) แนะนำให้นวดข้าวโดยใช้เครื่องนวดข้าว เพราะสะดวกและรวดเร็ว ทันเวลา ก่อนนวดข้าว ต้องทำความสะอาดเครื่องนวดข้าวก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันพันธุ์ปน
การตากข้าวหลังนวด ( กรณีเกี่ยวด้วยมือ ) ควรตากบนวัสดุที่สะอาดและแห้ง เช่น ผ้าใบ ผ้าตาข่าย ไม่ควรตากกับพื้นซีเมนต์ที่ร้อนจัดโดยตรง เพราะจะทำให้เมล็ดข้าวแตกหักได้ง่าย เกลี่ยข้าวให้มีความหนา ประมาณ 5 เซนติเมตร ควรกลับข้าวทุกๆ 2- 4 ชั่วโมง และในช่วงเวลา กลางคืนให้โกยข้าวมากองรวมกัน แล้วใช้ผ้าใบคุมเพื่อกันน้ำค้างควรตากข้าวให้มีความชื้นเหลือ ประมาณ 12-14%
ชาวนาบุรีรัมย์ชีวิตสดใส
เผย “ข้าวตราฉัตร” จัดเต็ม
ชาวนาบุรีรัมย์ เป็นปลื้ม ภายหลังเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวหอมมะลิกับ “ข้าวตราฉัตร” เผยขายข้าวได้ราคาดี ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ลดต้นทุนเพาะปลูก ผลผลิตต่อไร่สูง ประกาศมั่นใจในโครงการสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ ของบริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (หรือข้าวตราฉัตร) เป็นโครงการฯ ที่มีมาตรฐาน ทั้งด้านการรับซื้อ และการนำระบบการบริหารจัดการเพาะปลูกที่ถูกต้องมาใช้ จนได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการของตลาด
นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ทางบริษัทฯ ได้ส่งเสริมการปลูกข้าวของเกษตรกร ในโครงการสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ โดยใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี ตรงตามสายพันธุ์ จากกรมการข้าว เพื่อเพิ่มราคา พัฒนาแหล่งวัตถุดิบให้มีคุณภาพดี ตรงตามความต้องการตลาด ผลจากการส่งเสริมมีผลที่น่าพึงพอใจ
จากการสอบถามตัวแทนจากสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ นายสมนึก ทราบรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.17 ต.แสลงพัน และประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบุขี้เหล็ก, นายประมวลรัตน์ พลบุญ สมาชิกบ้านบุขี้เหล็ก และนายอุดม ศรีพิษ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.16 ต.แสลงพัน ที่เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน หรือเป็นระยะเวลาร่วม 12 ปีที่ผ่านมา ได้กล่าวยอมรับว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือการทำนาดีขึ้นกว่าเดิม เพราะบริษัทฯ ได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องของระบบการบริหารจัดการการเกษตร ทั้งในเรื่องแปลงนา การจัดหาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ก็ทำนาไปตามมีตามเกิด เวลาขายข้าวก็ขายแบบเหมาทั่วไปตามตลาด ไม่ได้มีมาตรฐานอะไร แต่พอเข้ามาเป็นสมาชิก นำข้าวเข้ามาขายในโครงการฯ ก็มีการตรวจสภาพข้าวว่าดีหรือไม่ดี ทำให้รู้ถึงคุณภาพข้าวที่เราผลิต และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ คอยแนะนำขั้นตอนการปลูกข้าวอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ ยังสามารถลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนในการผลิตได้มาก โดยเฉพาะค่าปุ๋ย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำว่าจะใส่ช่วงไหน เช่น หลังหว่านข้าวประมาณ 1 เดือน ในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นจาก 390 กก./ไร่ เป็น 430 กก./ไร่ คุณภาพข้าวดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่แนะนำให้เก็บเกี่ยว ช่วงระยะพลับพลึง หรือเหลืองกล้วย อีกทั้งการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวปลูก ทำให้ได้พันธ์ข้าวที่มีคุณภาพดี ขายได้ราคาเพิ่มขึ้น 50 บาท/ตัน นอกจากนี้เกษตรกรสมาชิกที่ผลิตข้าวเปลือกได้คุณภาพดี บริษัทฯ ก็จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นให้ตามคุณภาพของข้าวเปลือก
โครงการสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ ของข้าวตราฉัตร เป็นโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงการเพาะปลูก เพื่อที่จะให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพ เมื่อเอาข้าวเปลือกไปขาย จะได้ราคาสูงๆ อีกทั้งยังสามารถสะสมยอดขาย เพื่อที่จะได้รับรางวัลเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ จากหน่วยงานกรมการข้าว เพื่อนำมาใช้การเพาะปลูกรอบต่อๆ ไปอีก
"รู้สึกมั่นใจในมาตรฐานการรับซื้อของข้าวตราฉัตร ว่าเที่ยงตรง และยุติธรรม ส่วนปัญหาในการทำนาก็คงจะเป็นเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถไถ ค่าปุ๋ย แต่สามารถลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง ก็มาจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ลดทอนในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การเตรียมดินที่ถูกต้อง เพื่อลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช การใส่ปุ๋ยที่ไม่มากเกินไป และใส่ให้ถูกสูตร ถูกระยะ การเก็บเกี่ยวที่ระยะเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดี ขายได้ราคาสูง เมื่อต้นทุนต่ำ รายได้สูง ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น”
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ทางบริษัทฯ ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ คือ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่มีความสนใจ เพื่อสมัครเป็นสมาชิกของโรงสี จะมีการจัดประชุมสมาชิกเกษตรกร เพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งสรุปยอดรับซื้อจากสมาชิกเกษตรกรที่มาขายข้าวเปลือก นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกคุณภาพดี ให้กับสมาชิก และบริษัทได้รับซื้อข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดี ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเกษตรกรกับบริษัทอีกด้วย