ส่งออกวัคซีนไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday May 15, 2014 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สถาบันวัคซีนแห่งชาติ การผลิตวัคซีนของไทยมีจุดแข็งหลายประการ มีทั้งหน่วยงานควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก, มีโรงงานผลิตวัคซีนที่มีกำลังการผลิตและมีความพร้อมในการส่งออกวัคซีน, มีบุคลากรด้านการผลิตที่รอบรู้ในศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการส่งออก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งออกวัคซีนที่ผลิตในไทยไปยังต่างประเทศ ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)เปิดเผยว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านวัคซีนของประเทศ ได้ประเมินสถานการณ์และความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนของประเทศอย่างเป็นระยะ ซึ่งพบว่าศักยภาพของโรงงานที่มีอยู่ในประเทศขณะนี้สามารถผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้อย่างเพียงพอและยังมีศักยภาพการผลิตสำหรับจำหน่ายให้ต่างประเทศด้วย ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้มีการประชุมหารือระดมสมองร่วมกับหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศ 5 หน่วยได้แก่ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, องค์การเภสัชกรรม, บริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด, บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และบริษัทเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ซึ่งที่ประชุมมีข้อคิดเห็นร่วมกันว่ามีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะส่งออกวัคซีนที่ผลิตในไทยไปยังต่างประเทศ เนื่องจากมีจุดแข็งหลายอย่าง เช่น หน่วยงานควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก, มีโรงงานผลิตวัคซีนที่มีกำลังการผลิตและมีความพร้อมในการส่งออกวัคซีน, มีบุคลากรด้านการผลิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีและรอบรู้ในศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการส่งออกวัคซีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไทยก็ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง เช่นการขึ้นทะเบียนวัคซีนยังค่อนข้างช้า บุคลากรภาครัฐขาดความเข้าใจเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีน (Vaccine Security) เป็นต้น ซึ่งจุดอ่อนเหล่านี้สามารถกำจัดและแก้ไขได้ โดยอาจจะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงความพร้อมของประเทศ การสร้างความเข้าใจในระดับนโยบาย และการสร้างศักยภาพของประเทศในด้านที่มีความขาดแคลน “ธุรกิจวัคซีน”ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องใช้การลงทุนสูงและเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับนานาชาติ และในระดับประเทศ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติที่จะผลิตวัคซีนเพื่อการพึ่งพาตนเองและส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ รัฐบาลจึงต้องมีความชัดเจนทางด้านนโยบายและต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งเงินทุน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านบุคลากร เพื่อให้อุตสาหกรรมวัคซีนในประเทศเกิดขึ้นและอยู่ได้ และถ้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านการพัฒนาวัคซีนต่อไปในอนาคตและสามารถดำเนินธุรกิจวัคซีนในต่างประเทศได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกดร.นพ.จรุงกล่าว ด้าน ดร.อัญชลี ศิริพิทยาคุณกิจ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายด้านวัคซีนกล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายด้านวัคซีนได้ทบทวนสถานการณ์ตลาดวัคซีนในระดับโลก พบว่าในปี 2000 มีการซื้อขายวัคซีนกันประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐและเพิ่มขึ้นเป็น 24 พันล้านเหรียญในปี 2013 และมีการคาดประมาณว่าปี 2025 มูลค่าวัคซีนในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 100 พันล้านเหรียญ ซึ่งจะเห็นว่าการเติบโตของธุรกิจวัคซีนในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ในขณะที่ปัจจุบันมีวัคซีนที่พัฒนาอยู่ใน pipeline มากกว่า 120 ชนิด และมีวัคซีนประมาณ 60 ชนิดที่มีความสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติได้คาดการณ์เอาไว้ว่าปี 2020 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้แก่ อินเดีย จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย บราซิล คิวบา และเม็กซิโก จะสามารถผลิตวัคซีนสำหรับการใช้ภายในกลุ่มประเทศของตนเองได้อย่างเพียงพอ และอาจจะมีศักยภาพการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้ด้วย การเติบโตของตลาดวัคซีนในโลก มีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายประการด้วยกันได้แก่ 1)ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาเรื่องโรคติดต่อและการมีสิ่งคุกคามใหม่ ๆ เกิดขึ้น 2)ประสิทธิภาพของวัคซีนในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการป้องกันโรค 3)ประเทศต่างๆมีกำลังซื้อวัคซีนมากขึ้นโดยการให้งบประมาณเพิ่มขึ้นสำหรับการซื้อวัคซีน การมีหน่วยงานระหว่างประเทศหรือมูลนิธิที่ให้การสนับสนุนการจัดหาวัคซีนสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย รวมทั้ง การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 4)การมีเทคนิคใหม่ๆในการวิจัยพัฒนาวัคซีน และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตวัคซีน 5) ความต้องการใช้วัคซีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น มีการขยายกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการวัคซีน และมีตลาดใหม่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ เช่น เม็กซิโก บราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย รัสเซีย จีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อียิปต์ กลุ่มความร่วมมือของอ่าวอาหรับ (GCC) เป็นต้น และ 6) ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตจากการที่วัคซีนมีราคาแพงขึ้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นปัจจุบันเราสามารถผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำได้ 2 ชนิดคือ วัคซีนบีซีจี สำหรับป้องกันวัณโรคในเด็กโดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี โดยองค์การเภสัชกรรม นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิดที่ประเทศมีศักยภาพในการผลิตระดับปลายน้ำ โดยบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโปลิโอ, ตับอักเสบบี, วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ- ไอกรน-บาดทะยัก-ตับอักเสบบี, วัคซีนรวมป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน, วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี โดยวัคซีนหัดได้การรับรองคุณภาพจากองค์การอนามัยโลก (WHO Prequalification) แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจรับรองคุณภาพวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งคาดว่าจะได้ WHO PQ ภายในปีนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้จำหน่ายวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีในหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน การได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO PQ) เป็นการสร้างโอกาสในการจำหน่ายวัคซีนได้จำนวนมากแก่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่วัคซีนไทย ส่วนบริษัทไบโอเนทกำลังพัฒนาการผลิตวัคซีนไอกรนไร้เซลล์ตั้งแต่ต้นน้ำมุ่งสู่การได้รับ WHO PQ เช่นกัน จากความเพียรพยามดังกล่าวเป็นก้าวเดินที่จะนำพาประเทศสู่การทำธุรกิจวัคซีนในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความมุ่งมั่นของโรงงานผลิตวัคซีนในไทย เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดร.อัญชลีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ