กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--กรมอุทยานแห่งชาติฯ
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557 - นายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดี รักษาราชการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะสื่อมวลชนตรวจสอบข้อเท็จจริงในการแก้ปัญหาในพื้นที่มรดกโลก “ดงพญาเย็น –เขาใหญ่” หลังจากที่ศูนย์มรดกโลก องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ได้มีหนังสือขอให้ประเทศไทยชี้แจงสถานภาพมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.กรณีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ช่วงกม. 45 – 57 2.ผลกระทบต่อจระเข้น้ำจืดกรณีการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมง 3.การก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา และ 4. กรณีการตัดไม้พะยูงและการได้รับบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้นำคณะสื่อมวลชนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจสภาพผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมสำรวจถนนสาย 304 จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น –เขาใหญ่ เพื่อสำรวจความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหลังจากที่ศูนย์มรดกโลกได้มีหนังสือถึงประเทศไทยให้ชี้แจงใน 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยืนยันว่าไม่ได้เพิกเฉยต่อคำเตือนของมรดกโลกตั้งแต่ปี 2556 สำหรับเรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ช่วงกม. 42 – 57 ซึ่งขณะนี้ ผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของการขยายช่องทางจราจรของทางหลวง 304ช่วง กม.42-57 ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)แล้วขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.)
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ โครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมงจะไม่มีผลกระทบที่รุนแรงต่อประชากรจระเข้น้ำจืด เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรจระเข้น้ำจืดอยู่ไกลจากหัวเขื่อน การเปลี่ยนแปลงความลึกของน้ำในบริเวณดังกล่าวมีไม่มากนัก เช่นเดียวกับ การก่อสร้างเขื่อนห้วยสะโตนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตาพระยาก็ยังไม่ผ่านการอนุมัติให้สร้างจากรัฐบาลแต่อย่างใด และกรมอุทยานฯยังไม่ได้อนุญาตให้กรมชลประทานเข้าศึกษาพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนประเด็นสุดท้าย ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการป้องกันในประเด็นเร่งด่วน โดยการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการป้องกัน และปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ทั้งนี้ได้มีการสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ในการวางแผนลาดตระเวน เพื่อรับรองว่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งในพื้นที่คุ้มครอง และตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ ตลอดจนการอนุรักษ์หรือสร้างความเข้าใจกับชุมชนท้องถิ่น ทั้งการติดป้ายประกาศเตือนตามแนวชายแดน ทั้งภาษาไทยและภาษากัมพูชา และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปะทะกับขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงอย่างเต็มที่ รวมทั้งการเสนอให้ไม้พะยูงเข้าสู่บัญชีไซเตสเพื่อป้องกันการลักลอบค้า ระหว่างประเทศและหยุดยั้งการค้าไม้พะยูงที่ผิดกฎหมายต่อไป ทั้ง 4 ประเด็นที่ห่วงใยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ส่งรายงานไปยังศูนย์มรดกโลกแล้ว
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้เรียกประชุมหัวหน้าอุทยานฯ ที่อยู่ในพื้นที่ป่ามรดกโลกทั้งหมดแล้วรวมทั้งส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ ว่าเรามีแผนงานอย่างไรและส่งไปให้ศูนย์มรดกโลกตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เชื่อว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะเห็นความตั้งใจของเราว่าไม่ได้ละเลยเพิกเฉยต่อภัยคุกคามความเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน ที่สำคัญ กรมอุทยานฯ ยังเตรียมที่จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากลุ่มป่ามรดกโลกดงพญาเย็น – เขาใหญ่โดยเฉพาะเพื่อดูแลในพื้นที่ได้ครอบคลุมมากขึ้นรวมทั้งจัดตั้งกองทุนมรดกโลกเพื่อจัดหางบประมาณมาสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ดูแลผืนป่ามรดกโลกด้วย ทั้งนี้ จะมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม คณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 38 ณ กรุงโดฮาร์ ประเทศการ์ตา ในเดือน มิ.ย.นี้