กรุงเทพ--29 ต.ค.--เครือเบทาโกร
เบทาโกรชี้ทางรอดผู้เลี้ยงหมูต้องรวมกลุ่มในรูปสมาคม ร่วมมือกันดูแลปริมาณผลผลิตหมูไม่ให้ล้นตลาด และพัฒนาผลผลิต เพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้นและอยู่รอดได้
นายพิชัย ห่อทองคำ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท เบทาโกรไฮบริด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสุกรในเครือเบทาโกร เผยสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจสุกรในประเทศไทยว่า ผู้เลี้ยงสุกรเริ่มประสบภาวะขาดทุนเพราะระดับราคาเริ่มต่ำลงเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มราคาต่ำกว่า 30 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากเดิมที่มีราคาต้นทุนการเลี้ยงที่ 33-34 บาท เพิ่มสูงขึ้นเป็น 36-38 บาท เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น เช่นข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลายข้าว รำ ปลาป่น เฉลี่ยประมาณ 20-30% ซึ่งมีสาเหตุจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาก รวมทั้งต้นทุนด้านอื่นที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรง ค่าขนส่ง ฯลฯ หน่วยงานผู้รับผิดชอบของรัฐบาล ควรดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนที่ผู้ประกอบการจะทนรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวจนต้องล้มเลิกกิจการในที่สุด
ด้านแนวโน้มธุรกิจสุกรในปี 2541 นั้น นายพิชัย กล่าวว่าสถานการณ์ของผู้เลี้ยงยังคงไม่ดีขึ้นจากปี 2540 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดยังมีปริมาณมาก แต่ความต้องการบริโภคกลับลดลง จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ อย่างไรก็ตามในช่วงกลางปี 2541 ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นนั้นจะมีกระแสเงินสดหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น สานการณ์ธุรกิจสุกรในปี 2541 จึงยังไม่เลวร้ายนัก
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เลี้ยงสุกรควรปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยลดการลงทุนที่ไม่จำเป็น เช่นหยุดการก่อสร้างฟาร์ม พยายามบริหารการเงินให้มีเงินสดในมือมากที่สุดเพือ่ป้องกันปัญหาสภาพคล่องและภาวะการขาดทุน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงและต้นทุนด้านอื่นสูงขึ้นมาก พร้อมทั้งควรเพิ่มการดูแลการจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำ รวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์ สมาคม เพื่อร่วมมือกันดูแลปริมาณการผลิตให้ออกสู่ตลาดอย่างเหมาะสมกับความต้องการของตลาด ไม่ให้ระดับราคาต่ำเกินไป และร่วมมือกันพัฒนาผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ในส่วนบริษัทเบทาโกรไฮบริดนั้นฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้มีต้นทุนต่ำลง ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกซื้อผลภัณฑ์ ของบรษัทได้ในราคาประหยัดและยุติธรรม และได้พัฒนาพ่อพันธ์และแม่พันธ์สุกรให้มีคุณภาพที่ดี พร้อมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจให้กบทีมงานให้พร้อมทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อต่อสู้กับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
ส่วนการส่งออกสุกรที่มีความพยายามจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันผลักดันให้มีการส่งออกเนื้อสุกรแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีนั้นยังมีความเป็นไปได้น้อยเนื่องจากยังติดที่เรื่องเงื่อนไข กฎระเบียบกฎหมายห้ามนำเข้าเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD: Foot and Mouth Disease) ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกควรแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้สุกก่อน ในระดับความร้อนมาตรฐานที่กำหนด แต่ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มตัวเลขแก่ภาคการส่งออกซึ่งเป็นความหวังของประเทศ นายพิชัย กล่าวในตอนท้าย--จบ