กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ดีแทค
บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เปิดตัวโครงการ Safe Internet เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนไทยและผู้ที่เริ่มใช้งานเป็นครั้งแรก ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตซึ่งมีอัตราการขยายตัวของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกต้องและปลอดภัย
Safe Internet เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการ 1 ล้านชั่วโมงเพื่อเด็กไทย ที่ดีแทคได้มอบบริการอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างปัญญาให้กับเด็กไทยอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยวางแผนที่จะมอบให้โรงเรียน 200 แห่งภายในปี 2557 และ 2,000 โรงเรียน หรือนักเรียนจำนวนประมาณ 1,000,000 คนในปี 2559 สำหรับโครงการ Safe Internet เป็นการให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย สอนให้รู้ทันภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทางออนไลน์ และการแก้ไขที่ถูกต้องเมื่อเกิดปัญหา โดยมีเป้าหมายในการเตรียมเด็กไทยให้มีความรับผิดชอบ และพร้อมสำหรับการเป็น Digital Citizens ของประเทศไทยและโลกแห่งดิจิทัลในอนาคต
เทเลนอร์กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดีแทค เป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องของการสร้างความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยได้ร่วมกับบริษัทชั้นนำที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพล รวมถึงพันธมิตรหลากหลายองค์กรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นในประเทศนอร์เวย์ หรือประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะให้ความร่วมมือกับดีแทคอย่างเต็มที่ในการดำเนินโครงการนี้
ข้อมูลที่ได้จากธนาคารโลกระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กจำนวนมากกว่า 15 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่าร้อยละ 25 ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ด้วยอัตราการเติบโตของประชากรกลุ่มดังกล่าวซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.1 บวกกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในแต่ละปี เทเลนอร์กรุ๊ปจึงคาดการณ์ว่า จะมีเยาวชนไทยราว 10-15 ล้านคนเข้าสู่โลกออนไลน์ในปี 2560
นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคมีความมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน การที่เยาวชนจำนวนเพิ่มมากขึ้นสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้น เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย ต่อจากนี้ ดีแทคและเทเลนอร์จะเริ่มให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานเพื่อรู้เท่าทันเทคโนโลยีและมีความรับผิดชอบ เนื่องจากหากเยาวชนมีการเรียนรู้ด้านดิจิทัล รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ไม่เหมาะสม ก็จะได้รับประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มประสิทธิภาพ”
นายโอลา โจ แทนเดร ผู้อำนวยการด้าน Sustainability เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า “ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่หน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทอยู่ในธุรกิจด้านการสื่อสารและสารสนเทศเท่านั้น สำหรับเทเลนอร์ จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมกับพันธมิตรระดับโลกหลายองค์กร อาทิ อินเตอร์โพล ยูนิเซฟ CyberSecurity กาชาด และอื่นๆ มาใช้สนับสนุนดีแทคในโครงการ Safe Internet เพื่อรณรงค์เรื่องการสร้างโลกอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นให้กับเยาวชนไทยและผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก”
ข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนไทย
ผลการสำรวจขององค์กรนานาชาติ ECPAT ระบุว่า
อันตรายร้ายแรงที่สุดของเด็กและเยาวชนไทยคือ การพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต
เยาวชนร้อยละ 24 เคยมีนัดกับเพื่อนที่รู้จักกันบนอินเทอร์เน็ต และอีกร้อยละ 42 มีความคิดที่อยากพบเพื่อนที่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต
กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 71 เคยเข้าไปดูเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพอนาจาร และมีจำนวนถึงร้อยละ 52 ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาในการเข้าไปดูและแลกเปลี่ยนภาพเหล่านี้
เมื่อเจอปัญหาและตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงโดยคู่สนทนาบนอินเทอร์เน็ต เด็กร้อยละ 45 จะเก็บไว้โดยไม่เล่าให้ใครฟัง ซึ่งอาจทำให้ล่าช้าเกินกว่าจะแก้ไข