กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
“รพ.ขอนแก่น” นำร่องอบรมพนักงานขับรถพยาบาลเขตภาคอีสาน สร้างมาตรฐานรถพยาบาลปลอดภัย หลังพบสถิติ 10 ปี มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถพยาบาลกว่า 4 พันราย ขณะที่ สพฉ.-สธฉ. ผนึกความร่วมมือ เน้น 7 มาตรการหลักสร้างมาตรฐานความปลอดภัย
เสียงไซเรนของรถพยาบาลเป็นเสมือนเสียงที่กำลังขอทางไปเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่บาดเจ็บหรือป่วยฉุกเฉินให้รอดและปลอดภัย แต่ใครจะคิดว่ารถพยาบาลที่ควรเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด กลับเกิดอุบัติเหตุเองอยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งก็สร้างความสะเทือนใจให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555 –30 เมษายน พ.ศ.2557 พบว่า มีรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 17 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 53 ราย และเสียชีวิตถึง 16 ราย นอกจากนี้ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถพยาบาล จำนวน 4,315 ราย มีผู้เสียชีวิต 21 ราย พิการถาวร 12 รายและผู้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่าร้อยละ 50เป็นพยาบาลวิชาชีพ
ดัวยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงได้หาแนวทางสร้างมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาลขึ้น โดย รพ.ขอนแก่น ถือเป็นจังหวัดนำร่องที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า รพ.ขอนแก่นได้หาแนวทางลดการเกิดอุบัติเหตุเพื่อให้รถพยาบาลเป็นรถพยาบาลที่ปลอดภัยและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนที่บาดเจ็บหรือป่วยฉุกเฉิน โดยเบื้องต้นพบว่าสาเหตุการอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 90 เกิดจากพฤติกรรมของพนักงานขับรถ จึงเห็นได้ชัดว่าพนักงานขับรถพยาบาลเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การขับขี่ปลอดภัย ดังนั้นจึงได้จัดโครงการอบรมพนักงานขับรถพยาบาลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น โดยได้จัดอบรมขึ้น 3 รุ่น คือรุ่นที่ 1 จัดอบรมระหว่างวันที่ 14-17 พ.ค 57 และ รุ่นที่ 2 จัดอบรมในวันที่ 27-30 พ.ค 57 และ รุ่นที่ 3 จัดอบรมวันที่ 10-13 มิ.ย 57
“สำหรับการอบรมในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือโรงพยาบาลขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 สำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน บริษัทกลางผู้ประสบภัยจากรถจำกัด นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันไอดีไดร์ฟเวอร์ ที่มาช่วยเพิ่มความรู้ทางทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เพิ่มความรู้เรื่องกฎหมายจราจรและโทษที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งยังเพิ่มทักษะภาคปฏิบัติในการขับขี่รถพยาบาลทุกสถานะความเสี่ยง ซึ่งการอบรมครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ต่างๆ ในการลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถพยาบาลด้วย” นพ.วีระพันธ์กล่าว
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สำหรับการยกระดับมาตรฐานรถพยาบาลเพื่อให้มีความปลอดภัยนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน โดยรถพยาบาลที่ปลอดภัยนั้นควรมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1. พนักงานขับรถพยาบาล ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพนักงานขับรถพยาบาล และได้รับใบอนุญาตขับรถพยาบาล2. พยาบาลที่ทำหน้าที่ ส่งต่อผู้ป่วย ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย (refer) 3. รถพยาบาลต้องปรับปรุงให้แข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุสามารถลดความรุนแรงลงได้4.ต้องติดตั้งระบบติดตามรถพยาบาล (Ambulance Tracking) เพื่อควบคุมการใช้รถพยาบาล และติดตามระดับความเร็วไม่ให้เกินกฎหมายกำหนด5.การส่งต่อผู้ป่วย ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มโรค6.ควรจำกัดมาตรฐานความเร็วของรถพยาบาล สำหรับผู้ป่วยวิกฤติหรือตามรหัสการใช้ความเร็วที่ศูนย์สื่อสารสั่งการกำหนด และ 7.ต้องร่วมกันสร้างจิตสำนึก และขอความร่วมมือประชาชน ให้หลีกทางให้รถพยาบาลไปก่อน