กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--มิกซ์แอนด์แมทซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์
จากวิกฤตด้านพลังงานและรอยร้าวที่เกิดจากการคิดต่างกันในสังคม สู่แนวคิดสังคมแห่งการผนึกกำลังและแบ่งปันกัน การเกษตรยุคใหม่ซึ่งทำให้ทุกองค์ประกอบตั้งแต่แรงงานจนถึงภาคอุตสาหกรรมต่างเป็นฟันเฟืองที่สำคัญทั้งหมด และป่าหญ้าสายพันธุ์4190... เดินหน้าสู่ 87 ชุมชนเข้มแข็งด้วยการสร้างและพัฒนาอาชีพในชุมชน การพัฒนาพลังงานทดแทน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์น้ำ รักษ์ป่า การสร้างความสมานสามัคคีในชุมชน และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีความพอเพียงและแบ่งปันกันมาพัฒนา
ณ ห้องประชุมอาคาร กสท. สำนักงานใต้ร่มพระบารมี ได้จัดงานแถลงข่าว โครงการใต้ร่มพระบารมี 87 ชุมชนสู่สังคมแห่งการแบ่งปัน และพิธีมอบสิทธิบัตรหญ้าสายพันธุ์ 4190 โดยได้รับเกียรติจาก นายชัยรินทร์ นพเฉลิมโรจน์ เลขาธิการสำนักงานใต้ร่มพระบารมี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ หลิน จัน สี่ สถาบันวิจัยหญ้าจวินฉ่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และวนศาสตร์ฟูเจี้ยน (Prof. Lin Zhanxi, FAFU Juncao Research Institute) และคณะกรรมการโครงการ ได้แก่ นายรุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล พร้อมด้วยนางสาวสายทิพย์ แสงสิงแก้ว ร่วมแถลงข่าว
นายชัยรินทร์ นพเฉลิมโรจน์ เลขาธิการสำนักงานใต้ร่มพระบารมีเปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยที่ต้องเผชิญสภาวะความต้องการใช้พลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ที่กำลังกลายเป็นวาระสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องร่วมกันหาทางออก เป็นที่มาสำคัญของ สำนักงานใต้ร่มพระบารมี ในการน้อมนำเอาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาบูรณาการใช้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยเน้นในเรื่องของการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งโดยการสร้างและพัฒนาอาชีพในชุมชน การพัฒนาพลังงานทดแทน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์น้ำ รักษ์ป่า การสร้างความสมานสามัคคีในชุมชน และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีความพอเพียงและแบ่งปันกันมาพัฒนาภายใต้ “โครงการใต้ร่มพระบารมี 87 ชุมชนสู่สังคมแห่งการแบ่งปัน” ซึ่งประกอบไปด้วยการพัฒนาชุมชนในถิ่นทุรกันดารที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักจำนวน 87 แห่ง ภายใต้แนวความคิดของสังคมแห่งการแบ่งปัน “การเกษตรยุคใหม่ และป่าหญ้าสายพันธุ์ 4190 คนพัฒนาป่า ป่าพัฒนาชุมชน”เพื่อเป็นราชกุศลและเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นี้ ทั้งยังเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณถึงความห่วงใยที่พระองค์ท่านทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดมา
โครงการใต้ร่มพระบารมีฯ จัดทำขึ้นภายใต้แนวความคิดของสังคมแห่งการแบ่งปัน “การเกษตรยุคใหม่ และป่าหญ้าสายพันธุ์4190 คนพัฒนาป่า ป่าพัฒนาชุมชน” ซึ่งโดยความหมายของการเกษตรยุคใหม่ก็คือ ยุคที่ชุมชนและทุกองค์ประกอบของการผลิตต่างเป็นส่วนสำคัญของผลสำเร็จร่วมกันไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ นั้นก็คือพืชที่เพาะปลูก โรงงานผลิต และตลาด ดังนั้นในก้าวแรกของโครงการ จึงได้มีแนวความคิดในการปลูกป่าหญ้าสายพันธุ์4190 ซึ่งมี สำนักงานใต้ร่มพระบารมีเป็นเจ้าของสิทธิบัตร พร้อมสร้าง 87 ชุมชนแห่งการแบ่งปันตามแนวคิดเกษตร ยุคที่ 3 โดยแต่ละชุมชนจะมีที่ดินประมาณ 1,500 – 2,000 ไร่ ซึ่งจะถูกพัฒนาที่ดิน ดูแลสิ่งแวดล้อม วางแบบแปลนการพัฒนาชุมชนไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำ แก้มลิง สะพาน โครงสร้างพื้นฐานอาคารเอนกประสงค์ โรงไฟฟ้าชุมชน และอื่นๆพร้อมด้วยพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าสายพันธุ์ 4190 ของแต่ละครัวเรือน จำนวน 135 ครัวเรือน พร้อมนำผลิตผลที่ได้จากหญ้าสายพันธุ์ 4190 มาสร้างอาชีพของคนที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพเริ่มต้น อาทิ ปลูกผักออการ์นิค เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด โดยทำให้ชุมชนมีรายได้ขั้นต่ำ 120,000 บาท/ปี/ชุมชน พร้อมทั้งรายได้เพื่อไปพัฒนาอีกหลายส่วนในชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน
หญ้าสายพันธุ์ 4190 มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า หญ้าจวินฉ่าว (JUNCAO) ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการผสมผสานสายพันธุ์จาก อ้อย ไผ่ และหญ้าสายพันธุ์เนเปียร์ จนกลายเป็น หญ้าสายพันธุ์ 4190 หญ้าทองแห่งพลังงานทดแทน หญ้าแห่งการพัฒนาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หญ้าแห่งอาหารอันสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ทุกชนิดถือว่าเป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ใน 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง เป็นพืชอาหารสัตว์ และ สอง ใช้ในด้านการผลิตพลังงานโดยสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ที่ให้พลังงานสูงถึง 4,190 Kal/kg. ซึ่งมากกว่าถ่านหิน และที่สำคัญคือมีค่าซัลเฟอร์ (Sulfur) เพียง 0.10% จึงไม่ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถเจริญเติบโตได้แม้ในภูมิอากาศที่แห้งแล้งและในสภาพดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ โดยในการลงทุนปลูก 1 ครั้ง จะสามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 20 ปี
“สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งชุมชนต้นแบบในพื้นที่จังหวัด อุดร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี โดยเน้นพื้นที่ทุรกันดารที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งในเบื้องต้นจะมีการปรับปรุงดินตามแนวพระราชดำริ พร้อมทั้งพัฒนาตามแนวทางของโครงการ เพื่อให้เสร็จทันเพื่อถวายเป็น ราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 87 พรรษา ได้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป้าในการดำเนินโครงการให้ครบทั้ง 87 ชุมชน ในปี 2559 ที่จะถึง
ดังนั้นหากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ต้องการมีส่วนร่วมในโครงการครั้งนี้ก็สามารถติดต่อขอรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานใต้ร่มพระบารมี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 87 ชุมชนทั่วประเทศในที่สุด เพราะความสุขของพระองค์ท่านนั้นก็คือ รอยยิ้ม ความสุข และความสามัคคีของพสกนิกรของพระองค์นั้นเอง” เลขาธิการสำนักงานใต้ร่มพระบารมี กล่าวฝากในตอนท้าย